วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การลงโทษนักเรียน

                                                                               การลงโทษนักเรียน
ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เป็นเรืองที่ทุกคนทุกสาขาอาชีพ สถาบัน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจ เพราะเด็กเกี่ยวข้องกับทุกๆคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดาหรือไม่ก็ตาม เด็กมีส่วนสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของสังคม ดั่งที่ท่าน ศ.ดร.ฮัมกา นักวิชาการชาวอินโดนีเซียได้กล่าวไว้ว่า จะดูอนาคตของสังคมๆหนึ่งนั้น ก็จงดูเด็กในวันนี้เถิด เพราะในอนาคตเด็กๆเหล่านี้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้า หรือคำคมของอาหรับที่ว่า  เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า (شباب اليوم رجال غدا)
          เด็กเป็นหัวใจของสังคม หากสังคมได้ทุ่มเทให้ความสำคัญแก่เด็ก และเด็กได้รับการเลี้ยงดูอบรมที่ดีอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ก็เชื่อได้ว่าสังคมจะมีความมั่นคงและมีอนาคตที่รุ่งโรจน์ ในทางตรงกันข้าม หากเด็กถูกปล่อยปละละเลยหรือได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ความเสียหายล่มจมก็จะต้องเกิดขึ้นกับสังคมในอนาคต
                คำสอนของอิสลามที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานและอัลฮาดิษนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ได้แบ่งช่วงอายุต่างๆของเด็กไว้อย่างละเอียดอย่างที่นักวิชาการศึกษาเกี่ยวกับเด็กและนักจิตวิทยาปัจจุบันได้แบ่งเอาไว้ ส่วนการกล่าวถึงอายุบางช่วงของเด็ก เป็นการกล่าวไว้เพื่อประโยชน์ในการนำมาสู่การเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยเด็กและชี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของช่วงอายุนั้นๆดังที่ผู้เขียนจะได้นำมากล่าวไว้พอสังเขป
1.             วัยทารกในครรภ์มารดา เริ่มตั้งแต่การมีปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิของเพศชาย (บิดา) กบไข่ของเพศหญิง (มารดา) จนถึงกำหนดคลอดโดยประมาณ 9 เดือน
2.             วัยทารกดื่มน้ำนมมารดา ตั้งแต่แรกเกิด 2 หรือ 2 ปีครึ่ง
3.             วัยเด็กที่ต้อกำชับในเรื่องการนมาซและบัญญัติอิสลามอื่นๆ 7 10 ปี
4.             วัยเด็กที่ต้องมีการทำโทษ (เฆี่ยนตี) เมื่อละเลยหรือละเทมิดบัญญัติอิสลาม และต้องแยกที่นอนของเด็กๆ (ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศกัน)ออกจากกันเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป (อนัส แสงอารีย์, 2546:19 )
การลงโทษด้วยารตีนั้นควรเป็นวิธีสุดท้ายและใช้ให้น้อยครั้งที่สุด ไม่ควรทำกับลูกที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ ดังคำกล่าวของท่านรอซูลของอัลลอฮฺ ซบ. ไว้ว่า
مروا أولادكم بالصلاة لسبع واضربو هم عليها لعسر وفرقوا بينهم في المضاجع
                ความว่า พวกเจ้าจงใช้ให้ลูกหลานของเจ้าละหมาด เมื่อพวกเขาอายุเจ็ดขวบ และตีเขาเมื่ออายุสิบขวบ และจงแยกพวกเขาจากการนอนด้วยกัน(รายงานโดยอิหม่ามอัห์หมัดและอิหม่ามอาบูดาวูด) (อามีนะห์ ดำรงผล, 2546 : 18)
                จากการแบ่งช่วงอายุของบรรดานักวิชาการและในทัศนะของอิสลามดังกล่าว เราสังเกตเห็นได้ว่าเด็กที่มีอายุระหว่าง 7 10 ปี เป็นวัยที่ควรจะเรียนรู้หน้าที่ของมุสลิมและหัดปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจริงจัง ผู้ใหญ่ควรดูแลให้เด็กมีชุดละหมาดที่สะอาดอยู่เสมอ หัดให้ถือศิลอด หัดให้เด็กรู้จักการบริจาคทานเป็นต้น แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเสมอว่าเรื่องของการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของการนมาซและเรื่องอื่นๆนั้นต้องมีมาการออกคำสั่งบังคับเด็กให้ปฏิบัติในเรื่องนั้นๆด้วยวิธีการที่สอดคล้องและเหมาะสมกับวัยของเขา และวิธีการที่ดีที่สุดก่อนจะมีการบังคับ คือการสร้างแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้เห็นและปฏิบัติตาม
                ปัจจุบันเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไปพ่อแม่ก็จะพาเด็กไปเข้าเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ดังนั้นเมื่อเด็กอยู่ในการดูแลและการอบรมของครูที่โรงเรียนจึงจะเกิดปัญหาขึ้นมาว่าการที่ครูตีเด็กนั้นสมควรหรือไม่? การลงโทษเด็กด้วนการตีนั้น มีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เพื่อที่จะอบรมสั่งสอนเด็กในบ้านและโรงเรียน ศาสนาอิสลามได้ผ่อนปรนให้มีการตีภรรยาที่ดื้อรั้นและให้แยกที่นอน หากนางไม่เชื่อคำฟังคำตักเตือนที่ดี แต่ทว่าการตีนั้นจะต้องไม่ตีรุนแรงเกินไป และควรคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเพื่อลงโทษ
                สมัยก่อนท่านอุมัรอิบนุค็อฏฏอบได้รายงานว่า ได้มีเด็กชายคนหนึ่งเข้ามาหาท่าน และเด็กคนนั้นก็ได้แต่งผม และสวมเสื้อผ้าสวยงาม ท่านอุมัรได้ตีเด็กคนนั้นด้วยแซ่จนร้องไห้ นางฮับเสาะก็ได้ถามท่านว่า ท่านตีเขาทำไม ท่านอุมัรจึงตอบว่า เพราะการแต่งตัวเช่นนั้นมันทำให้เขาหยิ่งยโส ดังนั้นฉันจึงทำให้เขาถ่อมตัวลง (จากหนังสือประวัติศาสตร์คุลาฟะฮฺ ของท่านอิมามซูยูฏีย์) และบรรดาอามีรุ้ลมุมีนีนก็ได้อนุญาตให้ทำการอบรมเด็กๆและทำโทษด้วยการตีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และการตีนั้นก็ต้องเพื่อการอบรมสั่งสอน ไม่ใช่เพราะเหตุผลส่วนตัว
                ท่นอิมามอาลีกล่าวไว้ว่า
ادب صغار بيتك بلسانك على الصلاة والطهور, فإذ بلغوا عشر سنين فاضرب ولا تجاوز ثلاثا
                ความว่า เจ้าจงสั่งสอนให้ลูกๆของพวกเจ้าทำการละหมาดและรักษาความสะอาด หากลูกๆของเจ้าไม่ปฏิบัติตาม ในขณะที่อายุครบ 7 ขวบ เจ้าจงลงโทษ (ตี) แต่ไม่เกินสามที
ท่านอิบนุฮาญัร อัลไฮตามีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.974) กล่าวว่าการตีนักเรียนจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อน และจะต้องคาดหมายว่าการตีนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่หนักมือจนถึงขนาดเลือดตกยางออก แห่หากคาดว่าไม่มีประโยชน์ เว้นแต่จะต้องตีรุนแรงเท่านั้นก็ไม่เป็นที่อนุญาตโดยหลักอิจมาอฺของปวงปราชญ์ เพราะการลงโทษนั้น เป็นที่อนุญาตให้ทำได้ก็ต่อเมื่อคิดว่ามีประโยชน์ แต่หากการลงโทษที่นำไปสู่ภยันตรายถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสก็ไม่เป็นที่อนุญาต
ได้มีคนถามชีคอัลดุลอาซิซบินบาซ(เราะฮิมะฮุลลอฮฺ)ว่า ..
            บัญญัติ(ฮุกุม)การตีเด็กนักเรียนเพื่อการเรียนการสอน และให้เขาเน้นถึงแบบฝึกหัดและการบ้านที่ให้แก่เขาและเพื่อนเขาไม่ละเลยในแบบฝึกหัดนั้นเป็นเช่นใด?  :
           ท่านชีคอัลดุลอาซิซบินบาซ(เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) ได้ตอบว่า การตีในลักษณะนี้ไม่ถือว่ามีความผิดอะไร  ครูไม่ว่าชายหรือหญิงและบิดามารดา ทุกคนจะต้องดูแลเด็กๆ และอบรมสั่งสอนเด็กๆให้ห่างจากพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และกระทำในพฤติกรรมที่ดีที่พึ่งประสงค์(ศอลิฮฺ) เด็กไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ให้ตีเมื่อเขาไม่ละหมาดและมีอายุครบสิบปีแล้ว เป็นการสั่งสอนให้เขามั่นคงในการละหมาด หรืองานอื่นๆที่เขาควรกระทำ อย่างการเรียนหรืองานบ้าน ผู้ปกครองของเด็กชายหรือเด็กหญิงจะต้องอบรมสั่งสอนเขา ถ้าต้องตีก็ให้ตีอย่างเบาๆไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆแก่เขา เพื่อให้เขาปฏิบัติตนตามที่คาดหวังไว้ (ฟาตาวา ชีคบินบาซ เล่มที่ 6 หน้า 403 )
สิ่งที่ครูควรระวัง คือ ในการตีเด็กแต่ละครั้งควรจะนับจำนวนที่ตีด้วย โดยการตีไม่ควรเกินสิบทีหรือสิบไม้ เว้นแต่ในกรณีการลงเทศทางอาญา(ฮุดูด) ท่านอิบนุก็อยยิม-เราะฮิมาฮุลลอฮฺ-ได้กล่าวว่า ..
การที่ท่านนบี (ศ็อล) ได้กล่าวว่า
لا يضرب فوق عشرة أسواط إلا فى حد من حدود الله
ความว่า อย่าลงโทษเกินกว่าตีสิบไม้ เว้นแต่ในเรื่องที่อัลลอฮฺได้กำหนด
มีคนถามว่า ตีสิบครั้งตรงไหน(เรื่องอะไร) และที่ไม่ใช่คือเรื่องอะไร
บางคนตอบว่า ผู้ชายตีภรรยาของตน บ่าวทาส ลูก หรือลูกจ้าง เพื่อเป็นการสั่งสอน จะตีเกินกว่าสิบไม้ไม่ได้ และนี้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่ฮาดิษได้กำหนดมา
จริงแล้วการตี(หรือการลงโทษ)ไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะกระตุ้นให้เด็กขยันในการอ่านหนังสือ ครูควรจะผสมผสานกันระหว่างวิธีการเสริมแรงและการลงโทษเพื่อให้ได้สิ่งที่พึงประสงค์ เช่น ชมเชยนักเรียนเรียนดีและสนับสนุนเขาด้วยการให้รางวัลหรือให้คะแนนที่สูง ส่วนนักเรียนที่ยังไม่เป็นตามที่พึงประสงค์ให้ลงโทษเขาด้วยการให้คะแนนน้อยกว่าที่คนทำดี และพูดว่ากล่าวเป็นการคาดโทษ เป็นต้น
 ครูจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กนักเรียนไม่ใช่ทำไปเพื่อการลงโทษเท่านั้น ท่านนบี (ศ็อล)ได้เน้นในตลอดชีวิตของการเป็นนบีของท่านด้วยการอบรมสั่งสอน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆและเยาวชน เพราะเด็กและเยาวชนคือผู้ที่จะอยู่ในสังคมผู้ใหญ่ต่อไป พวกเขาคือผู้เลือกแนวทางในสังคมให้เป็นไปอย่างสงบสุขหรือความปั่นป่วน ในฮาดิษไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการกระทำของท่าน มีหลายบทหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษานี้มาก อย่างเช่นมีฮาดิษหนึ่งว่า
طلب العلم فريضة لكل مسلم
การศึกษาหาความรู้นั้น เป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องศึกษา โดยเฉพาะวิชาความรู้ที่เป็นพื้นฐานของชีวิต (ฟัรฎูอีน) ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางด้านศาสนาหรือการศึกษาด้านวิชาการสามัญหรือการศึกษาประสบการณ์ชีวิตด้านอื่นๆ
นอกจากตัวบุคคลเองแล้วที่เป็นผู้ต้องศึกษา ผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย โดยจะต้องจัดการศึกษาให้แก่ทุกคนอย่างพอเพียงกับความต้องการของสังคม ท่านนบี ศ็อลฯ ได้สั่งให้แก่พ่อแม่ของเด็กว่า
أحسنوا أدبهم أكرموا أولادكم  ( رواه أحسنوا أدبهم أكرموا أولادكم  ( رواه ابن ماجه )
          ความว่า พวกเจ้าจงให้เกียรติลูกๆของพวกเจ้า และจงให้การอบรมสั่งสอนที่ดี
                เป็นเรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่หรือครูผู้สอนที่จะใช้วินัยพร้อมกับการใช้ปัญญาในการสั่งสอนเด็ก ไม่ตำหนิหรือลงโทษอยู่ตลอดเวลา โดยการชมเชยยกย่องเด็กแทนการดุด่าถือโทษตลอดเวลา เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีการยกย่องชมเชยจะเติบโตอย่างมีความสุขสร้างสรรค์และเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่าเด็กที่ถูกตำหนิอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่หรือครูควรควบคุมอารมณ์เมื่อโกรธเด็ก และควรสอนให้เด็กควบคุมอารมณ์เช่นกัน คนเราสามารถเกิดอารมณ์โกรธได้ง่ายแม้แต่เรื่องเล็กน้อยๆ อย่างไรก็ตาม การยับยั้งความโกรธเป็นเรื่องของความเข้มแข็งและการควบคุมตนเอง นอกจากนี้ หากจะลงโทษเด็กทางร่างกาย ก็ควรกระทำด้วยความนุ่มนวล ท่านศาสดามูฮัมหมัด ศ็อลฯ ห้ามไม่ให้ตบหน้าผู้อื่นและหากจำเป็นก็ควรใช้วิธีตีก้นเป็นวิธีสุดท้ายแต่ต้องไม่สร้างความเสียหายใดๆ (ฟารามาซ, 2541 : 56)

                บทสรุปทางการศึกษา
1.             การลงโทษนักเรียนนั้นครูผู้สอนสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล      
2.             การลงโทษนักเรียนด้วยการตี จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง หรือครูผู้สอนได้ทำความเข้าใจและตกลงกับผู้ปกครองนักเรียน ไม่ใช่ทำไปโดยพละการหรือตามอารมณ์ของตนเอง
3.             การลงโทษด้วยการตี เป็นวิธีสุดท้าย ดังนั้นครูผู้สอนควรหาวิธีการลงโทษแบบอื่นโดยการใช้เทคนิคการเสริมแรงและการถอดถอนในสิ่งที่พึงพอใจ
4.             การตีไม่ควรเกินกว่าสามที โดยที่นักเรียนต้องไม่ได้รับอันตรายใดๆ


หนังสืออ้างอิง

ฟารามาซ บิน มุฮัมมัด เราะห์บัร (ปาริตฉัตต์ ผู้แปล), 2541, เลี้ยงลูกให้ถูกทางตามคำสอนของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ, กรุงเทพ:นัทชา พับลิชชิ่ง
สากีนะห์ บอสู , 2543, คุณธรรมของลูก, กรุงเทพ: มุสลิมนิวส์
อามีนะห์ ดำรงผล,2546, เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีแบบอิสลาม, กรุงเทพมหานคร : เอดีสันเพรสโพรดักส์
อนัส  แสงอารีย์, 2546, เด็กในทัศนะอิสลาม, กรุงเทพมหานคร: ศูรนย์ภาษาธรรม
 a.Mohm Azwar, 2006, Petua Membentuk Anak Pintar dan Kreatif, Kuala Lumpor: Jasmin Enterprice

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น