วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเขียนสรุปความ

การเขียนนั้นสำคัญไฉน

                สำนวนมลายูได้กล่าวไว้ว่า ภาษาเป็นหัวใจของชาติ หากไร้ซึ่งภาษาแล้ว ชาติก็จะสูญหายไปด้วย (Bahasa Jiwa Bangsa Hilang Bahasa Hilanglah Bangsa) ภาษามลายูเป็นมรดกทางปัญญาที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและอารยธรรมของสังคมมลายูในอดีต เป็นภาษาที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชนชาวมุสลิมในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
                ภาษามลายูมีความสำคัญในหลายๆด้าน เช่น ด้านการถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรม ด้านการสื่อสารในชุมชน และด้านการศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะการใช้ภาษาเป็นสื่อในการศึกษา จะช่วยให้การปฏิสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันในสังคมเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฉะนั้นความสามารถในการใช้ภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                กระบวนการเรียนการสอนในกลุ่มสาระภาษานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ครูผู้สอนจะต้องคำนึงถึง 4 ทักษะด้วยกัน คือ ทักษะการอ่าน การพูด การเขียน และการฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเขียนนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุด การที่เราจะสร้างให้นักเรียนมีความสามารถในการเขียนที่ดีนั้น ครูผู้สอนจะต้องใช้เทคนิคและรูปแบบการสอนที่เหมาะสมและมีความหลากหลาย เพราะการเขียนเป็นทักษะในการสื่อสารที่สำคัญเพื่อการแสดงความรู้ ความคิด และความต้องการของผู้ส่งสารออกเป็นลายลักษณ์อักษร
                ทักษะการเขียนนับเป็นทักษะที่เป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ กล่าวคือ การเขียนต้องใช้ภาษาที่งดงามประณีต สามารถสื่อได้ทั้งอารมณ์ ความรู้ ความคิด จึงต้องใช้ศิลปะในการเขียน ส่วนที่กล่าวว่าศาสตร์เพราะการเขียนทุกชนิดต้องประกอบด้วยความรู้ หลักการและวิธีการ แต่อย่างไรก็ตามการเขียนก็สามารถฝึกฝนและเรียนรู้ได้ ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนนั้นผู้สอนจึงจำเป็นจะต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการสอน เพราะการศึกษาที่จะประสบผลสำเร็จที่ดี ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในรายวิชาที่ตนเองสอน เข้าถึงแก่นของความรู้ มีเทคนิคกลวิธีการสอนทีมีหลากหลาย เหมาะสมกับเนื้อหาและการพัฒนาการของผู้เรียน และสามารถปรับเปลี่ยนเทคนิคและรูปแบบการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ และมีความรู้ความเข้าใจในจิตวิทยาพัฒนาการการศึกษา ครูผู้สอนสามารถนำสื่อต่างๆมาประกอบการเรียนการสอนให้เหมาะกับเนื้อหาและความแตกต่างของผู้เรียน เพื่อให้กระบวนการเรียนการสอนสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของหลักสูตรอิสลามศึกษาที่ได้กำหนดไว้และเป้าหมายของการศึกษาแห่งชาติที่กำหนดไว้คือ เก่ง ดี และมีสุข กระบวนการเรียนการสอนจะต้องเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนจะมีบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่นักเรียน ส่วนนักเรียนจะต้องลงมือปฏิบัติและฝึกฝนด้วยตัวเองจนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ ทำให้นักเรียนมีความตระหนักและมีเจตคติที่ดีต่อวิชาความรู้ที่นักเรียนได้เรียน
                ดังนั้น บทความปริทัศน์นี้ได้นำเสนอข้อความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเขียนโดยการใช้วรรณกรรมเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อจัดการศึกษาภาษามลายูกลางในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ใน 2 ประเด็นด้วยกัน ประกอบด้วย
1.       ความสำคัญของการเขียนและการเขียนสรุปความ
2.       การใช้วรรณกรรมประกอบการเรียนการสอน

1. ความสำคัญของการเขียน
ด้วยสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน การสื่อสารทางเทคโนโลยี่ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการศึกษา ครูผู้สอนและนักเรียนต่างก็ใช้เทคโนโลยี่มาเป็นตัวช่วยในการเรียนการสอน จนทำให้กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการอ่านจากหนังสือหรือสิ่งตีพิมพ์มีจำนวนน้อยลง อันเห็นได้จากผลสำรวจหรืองานวิจัยที่ได้สรุปไว้ว่าคนไทยอ่านโดยเฉลี่ยแล้วอ่านหนังสือไม่ถึงหนึ่งเล่มต่อปี ปัญหาเช่นนี้ทำให้นักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ขาดความตระหนักและความเอาใจใส่ต่อการอ่านและการเขียน ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรให้คำปรึกษาและคำแนะนำที่ดีแก่นักเรียนเพื่อให้นักเรียนรู้จักใช้เทคโนโลยี่มาเป็นตัวช่วยในการศึกษาหาความรู้
การเขียนเป็นทักษะที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการศึกษา การทำงาน และติดต่อสื่อสารทั่วไป อันเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาเพื่อสื่อความหมายไปยังผู้รับสาร การสื่อสารถ้าผู้ส่งสารและผู้รับสารไม่เข้าใจตรงกันนั้น ก็อาจเกิดความเข้าใจผิดและรู้สึกความไม่ดีต่อกัน
การเขียนเป็นทักษะการใช้ภาษาที่สำคัญมากในสังคมยุคปัจจุบันนี้ เพราะสามารถบันทึกเรื่องราววิชาความรู้ได้ในวงกว้างและยาวนานกว่าภาษาพูด รวมทั้งช่วยสืบทอดวัฒนธรรมด้านสติปัญญาทางความรู้ความคิดต่างๆ ไว้ได้อย่างยั่งยืนจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ การเขียนเป็นการบันทึกลายลักษณ์ที่สามารถเก็บไว้ได้นานกว่ากระบวนการใดๆ การพัฒนาทักษะการเขียนจึงต้องเริ่มต้นอย่างจริงจังและกระทำการอย่างต่อเนื่อง ทักษะการเขียนจะต้องดำเนินการโดยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและต้องใช้เวลาฝึกนานพอสมควรจึงจะเกิดความชำนาญ ในการฝึกการเขียนนั้นจะต้องฝึกให้ถูกวิธีและถูกหลักเกณฑ์ ต้องสะกดคำให้ถูก เรียบเรียงถ้อยคำให้สื่อความหมายได้ชัดเจนและรู้จักการแบ่งวรรคตอนให้ถูกต้อง และจะต้องรู้จักเทคนิคเฉพาะในการเขียนเรื่องประเภทต่างๆ ทั้งในแง่วัตถุประสงค์และเทคนิคการเขียน รู้จักแสดงออกโดยเขียนเรียบเรียงความรู้และความรู้สึกนึกคิดออกมาอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตรงตามที่ต้องการ
การเขียนเป็นการใช้ภาษา ซึ่งต้องอาศัยการสั่งสมความรู้ความคิดจากการอ่านและฟัง ถ้าฟังมากอ่านมากจะทำให้ผู้เขียนมีความรู้ เกิดความคิดกว้างไกล สามารถนำไปใช้ในการเขียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นการเขียนเป็นหลักฐานที่ผู้อื่นสามารถอ่านและนำไปอ้างอิงได้ ดังนั้นจึงควรเขียนด้วยความระมัดระวังและต้องรู้จักการสรรหาถ้อยคำมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะงานเขียนมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อ ทำให้ผู้อ่านพัฒนาความรู้ความคิดและอารมณ์ จะต้องให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ให้ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีงามแก่ผู้อ่านอย่างมีเหตุมีผลและให้ผู้อ่านมีพัฒนาการทางอารมณ์และความรู้สึกไปในทางที่ดี งานเขียนที่ดีจะต้องคำนึงถึงระดับความรู้ ความคิด และสติปัญญาของผู้อ่าน ผู้เขียนจึงควรระมัดระวังเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษา การเสนอความรู้และความคิดที่ผู้อ่านอาจไม่มีพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ
ระเบียบหรือวิธีการที่ใช้ในการเขียน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องศึกษา เพื่อจะได้ฝึกฝนให้สามารถคิดและเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเขียนที่ดีจะช่วยพัฒนาทักษะการเขียนนั้น ผู้เขียนต้องคำนึงถึงกระบวนการเขียนต่อไปนี้ คือ
1.1 การคิด
ไม่ว่าผู้เขียนจะเขียนเรื่องใดก็ตาม สิ่งแรกก็คือเรื่องของความคิดซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก่อนลงมือเขียนเรื่องใดจำเป็นต้องคิดเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้งเสียก่อน เมื่อคิดได้จึงเลือกใช้ถ้อยคำตามความหมายที่ต้องการ ดั่งที่ปรีชา ขวัญยืน ได้กล่าวถึงกระบวนการเขียนไว้ว่า การคิด คือการคิดให้เข้าจุด คิดให้อยู่ในวงจำกัด คิดถึงจุดประสงค์ที่สำคัญจุดเดียว ซึ่งการจะคิดให้เข้าจุดนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ คิดในสิ่งที่รู้ คิดในหัวข้อที่จำกัด และทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดหลักอย่างกระจ่างชัด นอกจากนั้นผู้เขียนจะต้องจัดระเบียบความคิดเพื่อไม่ให้การเขียนวกวนสับสน โดยจัดระเบียบความคิด 3 ลักษณะ คือ การจัดลำดับเรื่องราว หมายถึงการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นภายหลัง การจัดลำดับสถานที่ คือการเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ตามความจริงไม่วกไปวนมา เพื่อให้ผู้อ่านนึกตามไปเป็นขั้นตอน และการจัดลำดับตามเหตุผล คือ การเขียนโดยใช้เหตุและผล เมื่อมีเหตุแล้วต้องมีผลตามมา หรือเมื่อนึกถึงผลทำให้โยงไปถึงเหตุได้ เช่น เพราะเหตุใดยาเสพติดจึงเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน และที่สำคัญการเขียนจะต้องมีความกระชับในเรื่องที่คิด คือการเขียนเรื่องที่จะต้องมีความคิดหลักที่ชัดเจนเพียงความคิดเดียว เพื่อให้ผู้อ่านสามารถจับประเด็นได้ว่าผู้เขียนต้องการเสนอความคิดอะไร ถ้าผู้อ่านสามารถสรุปความคิดออกมาได้ชัดเจน แสดงว่าเรื่องนั้นมีความกระชับในเรื่องที่คิด โดยผู้อ่านสามารถสื่อได้ตรงกับความคิดของผู้เขียน
ดังนั้นการเริ่มต้นของการเขียนที่ดีจึงต้องต้นเริ่มด้วยการวางกรอบแนวคิดหรือโครงสร้างที่เราจะเขียนอันเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวที่เราจะต้องพยายามรังสรรค์ข้อความให้บรรลุถึงกรอบแนวคิดที่เราได้วางไว้ การคิดดังกล่าวผู้เขียนจะต้องตอบคำถามต่างๆ อันจะช่วยให้เราสามารถเรียนเรียงถ้อยคำได้ถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น เช่นใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไรเป็นต้น
เพ็ญศรี จันทร์ดวง (2546:142) ได้กล่าวถึงกระบวนการเขียนที่ดีว่า ผู้เขียนต้องมีความสามารถในเลือกใช้คำที่สื่อความหมายได้แจ่มแจ้ง ใช้ถ้อยคำกะทัดรัด เหมาะสมแก่ระดับของผู้อ่าน และรูปแบบการเขียน เขียนตัวอักษรให้อ่านง่าย ให้มีขนาดพอเหมาะกับกระดาษ เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน เขียนถูกต้องตามอักขระวิธี คำนึงถึงการสะกดคำ การวางรูปสระ รูปวรรณยุกต์ และเครื่องหมายต่างๆให้ถูกที่ แต่งประโยคที่มีใจความสมบูรณ์ แล้วลำดับประโยค ลำดับความเข้าใจง่าย ไม่วกวน ไม่ก่อให้เกิดความงุนงงสงสัย เว้นวรรค ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสารได้ง่าย และขึ้นย่อหน้าใหม่เมื่อมีความคิดเสนอเป็นตอนใหม่ ให้มีความสัมพันธ์กับย่อหน้าที่มาก่อน
ความสำเร็จในการเขียนเกิดจากความชำนาญทำทีละขั้นๆ ไม่ควรทำทีเดียวจบ เขียนคราวทีละน้อยๆไปก่อนโดยต้องสร้างนิสัยที่สำคัญอย่างหนึ่งให้ได้เสียก่อนคือนิสัยรักการอ่านและการเขียน การใช้ภาษาที่เหมาะสมและถูกต้อง การเขียนที่ดีต้องใช้เวลาและการฝึกฝนให้มากพอจึงจะเกิดทักษะที่ดี เพราะการเขียนคือศาสตร์และศิลป์ที่เราทุกคนสามารถฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้เป็นนักเขียนที่ดีและรู้คุณค่าของภาษาที่เป็นวัฒนธรรมของชาติ
1.2 การตั้งจุดมุ่งหมายของการเขียน
การตั้งจุดมุ่งหมายของการเขียนนั้น ผู้เขียนจะกำหนดว่าตนต้องการเขียนเพื่ออะไร เป็นการช่วยให้การเขียนอยู่ในขอบเขตและง่ายต่อการเขียน ซึ่งมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะมีกลวิธีการเขียนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเจตนาหรือความต้องการของผู้เขียนที่จะเสนอเรื่องประเภทใด อย่างไร ซึ่งจุดหมายในการเขียนนั้น เช่น เพื่อจดบันทึกจากการฟังและการอ่าน เพื่อแสดงความคิดเห็น แนะนำสั่งสอน เพื่ออธิบายให้เกิดความรู้ความเข้าใจ หรือเพื่อสร้างจินตนาการให้เกิดความบันเทิงใจ เป็นต้น
การเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกไปยังผู้อ่าน อย่างน้อยการเขียนทุกชนิดจะต้องมีจุดมุ่งหมายในการเขียน พร้อมทั้งยังใช้ภาษาที่ถูกต้องอีกด้วย การเขียนสรุปความจึงเป็นการเขียนที่มีจุดหมาย เพื่อย่อความให้กระชับรัดกุม ดังที่จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ (2548:222) ได้กล่าวถึงการเขียนสรุปความว่า การเขียนสรุปความเป็นทักษะการเขียนที่สืบเนื่องและสัมพันธ์กับการอ่านจับใจความ กล่าวคือเป็นการสื่อสารที่ผู้เขียนต้องแสดงทั้งสมรรถภาพในการอ่านจับใจความให้ถูกต้อง ตรงประเด็น และสามารถเรียนเรียงภาษาเขียน สรุปประเด็นถูกต้อง ชัดเจน ต่อเนื่อง สละสลวยเป็นภาษาเขียนที่ดีด้วย
ความสามารถในการเขียนสรุปความมีความสำคัญต่อบุคคลโดยทั่วไปและนักเรียนทุกระดับชั้น เพราะการที่ได้ยินและฟังเรื่องราวใดๆต้องมีการสรุปความเพื่อความเข้าใจของตนเอง และใช้ในการสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นในการเขียนสรุปความนั้นผู้เขียนจะต้องมีความประณีตในการเรียงร้อยถ้อยคำ ซึ่งขั้นตอนในการเขียนสรุปความให้เกิดความชำนาญนั้น ผู้เขียนจะต้องฝึกฝนตนเองตามขั้นตอนดังนี้ คือ ขั้นแรก เป็นการพิจารณาสารว่ามีเนื้อหาอย่างไร รูปแบบของสารเป็นอะไร ขั้นที่สอง เป็นขั้นการย่อเนื้อหาของเรื่องจากเรื่องทั้งหมด ให้เหลือประมาณหนึ่งในสาม พร้อมทั้งคิดตั้งชื่อเรื่องคือ ต้องเป็นความคิดรวบยอดของเรื่องนั้น ขั้นที่สาม เป็นการสรุปเรื่องสั้นให้กะทัดรัด โดยหาข้อความหรือคำมาทดแทนประโยคหรือข้อความยาวๆ ให้เหลือข้อความสั้นๆ และปรับปรุงถ้อยคำและชื่อเรื่องให้กะชัดรัดกุมกว่าเดิมและถือว่าเป็นขั้นสรุปความแล้ว และขั้นสุดท้าย เป็นขั้นสรุปรวบยอดของเรื่องราวทั้งหมดให้เหลือเฉพาะใจความสำคัญจริงๆ หรือให้เหลือประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียว ขั้นนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญและเป็นขั้นตอนทีสำคัญที่ยากที่สุด (ไพรถ เลิศพิริยกมล,2544:55) ดังนั้นในการเขียนสรุปความนั้นต้องเริ่มจากการฟังและอ่าน เพื่อให้รู้เรื่องราวพอสังเขป เก็บข้อความที่สำคัญให้ครบถ้วน นำมาเรียบเรียงให้ได้ใจความสละสลวยเป็นสำนวนของผู้สรุปเองโดยใจความสำคัญที่สรุปไว้นั้นต้องสั้น กะทัดรัด อ่านแล้วเข้าใจทันที
จุดมุ่งหมายของการเขียนต่างๆ นั้นผู้เขียนจะต้องเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นที่ดึงดูดใจ และความสนใจของผู้อ่าน การตั้งจุดมุ่งหมายที่ดีจะช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกมีอารมณ์ร่วมในขณะที่อ่านและจะติดตามอ่านตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความสนใจ กระบวนการฝึกทักษะการเขียนที่เป็นแบบฝึกให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการเขียนก็คือการเขียนสรุปความจากวรรณกรรมต่างๆที่นักเรียนได้อ่าน เพราะวรรณกรรมจะเรื่องราวที่น่าสนใจและสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสำหรับการค้นคว้า การพัฒนาทักษะการอ่านและเขียนของนักเรียนควบคู่ไปด้วย การเขียนสรุปความจึงมีประโยชน์ในด้านการใช้เครื่องมือในการศึกษาหาความรู้ ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผล ประเมินผล ช่วยให้การเรียนรู้มีความหมาย ช่วยพัฒนาทักษะการอ่าน และการเขียนให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการฝึกทักษะด้านการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ควบคู่กันไป ซึ่งเป็นการฝึกให้เกิดดุลยภาพทางสมองอีกด้วย

2. การใช้วรรณกรรมประกอบการเรียนการสอน
วรรณกรรมเป็นสื่อช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียนให้กว้างขวาง ฉลาดรอบรู้ เสริมสร้างจินตนาการ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ วรรณกรรมจึงเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ดีสำหรับการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของนักเรียน การอ่านวรรณกรรมนั้นนอกจากการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถทางสติปัญญาแล้ว ยังทำให้นักเรียนเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยเฉพาะนักเรียนในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา
วรรณกรรม (อังกฤษ: Literature) หมายถึง วรรณคดีหรือศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการโดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งวรรณกรรมเป็น 2 ประเภท คือ วรรณกรรมลายลักษณ์ คือวรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ และวรรณกรรมมุขปาฐะ อันได้แก่วรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก ไม่ได้จดบันทึกด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้าง ถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคม เป็นต้น
วรรณกรรมเป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารเรื่องราวให้เข้าใจระหว่างมนุษย์ ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้น และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมาย เรื่องราวต่าง ๆ ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารได้แก่ ภาษาพูด โดยการใช้เสียง ภาษาเขียน โดยการใช้ตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์ หรือภาพ และภาษาท่าทาง โดยการใช้กิริยาท่าทาง หรือประกอบวัสดุอย่างอื่น
ผาสุก มุทธเมธา (2527:4) ได้อธิบายถึงความหมายของวรรณกรรมไว้ว่า วรรณกรรมหมายถึงงานเขียนทุกรูปแบบ ไม่จำกัดคุณสมบัติในทางศิลปะหรือศิลปะแห่งการเรียบเรียง ฉะนั้น วรรณกรรมจึงมีความหมายกว้างมาก รวมงานทุกอย่างที่เป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง กวีนิพนธ์ และร้อยแก้วในรูปแบบของบทความ สารคดี นวนิยาย เรื่องสั้น เรียงความ บทละคร ตลอดจนงานเขียนในคอลัมน์ต่างๆของหนังสือพิมพ์
วรรณกรรมจึงเป็นสื่อการเรียนการสอนอย่างหนึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนรู้มากขึ้น ดั่งที่เกสรี ลัดเลีย (2552:1) ได้กล่าวว่า ความหมายของวรรณกรรมแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเด็กกับการเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม นั่นคือ ความสำคัญของวรรณกรรมในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนสำหรับเด็ก และในปัจจุบันนักการศึกษาได้นำเอาทฤษฎีการสอนแบบธรรมชาติ (whole language) ที่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบการเรียนรู้ภาษาในทุกด้านแบบองค์รวม (holistic) โดยไม่แยกการเรียนรู้ภาษาเป็นทักษะเดี่ยวๆ มาเป็นทฤษฎีพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการสอนภาษาโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายคือ การพัฒนาทักษะด้านภาษาของผู้เรียนให้สูงสุดตามศักยภาพ
การเลือกวรรณกรรมเพื่อนำมาทำกิจกรรมในการพัฒนาทักษะการเขียนนั้นมีความสำคัญมาก เพราะสื่อการอ่านของเด็กในปัจจุบันมีมากมาย โดยเฉพาะสื่อทางอินเตอร์เน็ต จนกระทั่งอ่านทั้งวันหรือดูทั้งวันก็ไม่หมด สื่อมีทั้งดีและไม่ดี เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน สื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อเด็กมาก ทั้งในความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ทำให้เด็กคล้อยตามไปได้ง่ายๆและปฏิบัติด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นการเลือกวรรณกรรมเพื่อนำมาทำกิจกรรมพัฒนาการเขียนสรุปความนั้น จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้ซึมซับสิ่งดีๆ มาให้เด็ก สร้างรสนิยมในการอ่านการเขียนทีดีให้กับเด็ก และปลูกฝังความคิดที่ดีที่ได้จากการอ่าน จึงเปรียบเสมือนการสร้างเกราะป้องกันตัวให้กับเด็กจะช่วยให้เขาสามารถแยกแยะสื่อที่ดีกับสื่อที่ไม่ดีด้วยตัวของเขาเอง
การสอนให้นักเรียนมีทักษะการเขียนที่ถูกต้องโดยการใช้วรรณกรรมประกอบการเรียนการสอนจะช่วยนักเรียนเห็นคุณค่าของภาษาและความสำคัญของเรื่องราวต่างที่เป็นเรื่องเล่าตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นหรือเรื่องเล่าทางศาสนาอันมีคุณค่าในการพัฒนาจิตใจ เพราะวรรณกรรมบางเรื่องจะมีคติสอนใจและหลักธรรมคำสอนที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้ การเขียนจะช่วยให้นักเรียนมีความตระหนักเพิ่มขึ้น เพราะก่อนที่นักเรียนจะลงมือเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆตามทัศนของตนเองจะต้องผ่านการอ่านและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนจึงสามารถนำมาสรุปเป็นถ้อยคำสำนวนของตัวเองได้อย่างถูกต้อง
กระบวนการพัฒนาทักษะการเขียนสรุปความภาษามลายูโดยใช้วรรณกรรมเป็นสื่อการเรียนการสอนจะช่วยให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถถ่ายทอดความคิดความอ่านที่ได้รับจากเนื้อหาที่นักเรียนอ่านมาเขียนสรุปความได้อย่างถูกต้อง และนักเรียนยังสามารถนำแนวคิดหลักธรรมคำสอนจากอัตชีวประวัติหรือวรรณกรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
                จากความสำคัญของการเขียนและวิธีการเขียนดังกล่าวนั้นจึงสรุปได้ว่า การพัฒนาทักษะการเรียนการสอนด้านภาษา โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการเขียนสรุปความ ผู้สอนจะต้องมีเทคนิคการเรียนการสอนที่หลากหลาย สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพและความรู้ที่ตนเองมีอยู่ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสื่อที่จะเป็นสิ่งเร้าให้ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียนรู้ทางภาษา คือวรรณกรรมและเรื่องราวต่างๆ ทั้งวรรณกรรมเกี่ยวกับอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญหรือนวนิยายเรื่องสั้นที่ช่วยผู้เรียนมีความสนใจในภาษามากขึ้น การเขียนสรุปความจากวรรณกรรมจึงเป็นวิธีการหนึ่งในหลายวิธีที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาทักษะการเขียนสรุปความได้ เพราะวรรณกรรมจะเป็นสิ่งเร้าและแรงดึงดูดใจให้นักเรียนให้ความสนใจในการอ่านและเขียน การพัฒนาทักษะการเขียนสรุปความจำเป็นจะต้องฝึกฝนอย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง จนทำให้เกิดความชำนาญ ทักษะการเขียนจึงต้องใช้ทักษะความสามารถทางการอ่านควบคู่ไปด้วย เพราะการอ่านเปรียบเสมือนกุญแจที่จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในวิชาการต่างๆ ดังนั้นการนำวรรณกรรมมาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนครูผู้สอนจะต้องเลือกวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเหมาะกับจิตวิทยาพัฒนาการของนักเรียนด้วยจะทำให้การเรียนการสอนสามารถบรรลุผลที่วางไว้ได้ง่ายขึ้น 


อ้างอิง

เกสรี ลัดเลีย, 2554, การใช้วรรณกรรมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้, คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ฉวีวรรณ คูหาภินันท์, 2545, วรรณกรรมสำหรับเด็ก, บริษัทบูรพาสาร(1991) จำกัด, กรุงเทพมหานคร
ส.ศิวรักษ์, ............., ศิลปะแห่งการเขียน, ยูโรปาเพรส บริษัทจำกัด, กรุงเทพมหานคร
พริ้มเพราวดี หันตรา, 2541,ทักษะทางภาษา นานาวิธี,โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว กรุงเทพ,79
วรมน ลิ้มมณีและคณะ, 2544, ภาษาไทยเพื่อการสืบสารและสืบค้น, สถาบันราชภัฏสวนดุสิต, กรุงเทพมหานคร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น