วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

การสอนอิสลามศึกษา

วิธีการสอน / ยุทธศาสตร์การสอน
การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เพราะการศึกษาคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ดังนั้นการศึกษาอิสลามจึงมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างคนให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบในการบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺสามารถประกอบศาสนกิจได้ถูกต้อง ดำเนินชีวิตเพื่อเป็นคนดีของสังคม และเป็นประชาชาติที่ดีของมวลมนุษยชาติ
วิธีการสอนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ให้ประสบผลสำเร็จทั้งทางด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล วิธีการสอนหรือยุทธศาสตร์การสอนจึงต้องสอดคล้องกับเนื้อหาและเป้าหมายของการจัดการศึกษา  ในบทกวีอาหรับบทหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า วิธีการมีความสำคัญกว่าเนื้อหา ซึ่งบทกว่าดังกล่าวได้เปรียบเทียบให้เห็นว่าในการดำเนินการเรียนการสอน ถึงแม้นจะมีความรู้มากสักเพียงใด แต่หากไม่มีเทคนิคและวิธีการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ฟัง ก็ไม่สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์นั้นได้ แต่ในขณะเดียวกันหากแม้นมีความรู้เพียงเล็กน้อย แต่มีความรู้ความสามารถด้านเทคนิคและวิธีการถ่ายทอดแล้วก็สามารถไปถึงจุดประสงค์ได้ดียิ่งกว่า
อัลกุรอานได้กล่าวถึงวิธีการสอนหรือเทคนิคการสอนไว้ในซูเราะห์อัลนะฮฺลู อายะห์ที่ 125 ไว้ว่า
ادْعُ إِلَى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُمْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ إِنَّ رَبَّكَ هُوَ أَعْلَمُ بِمَنْ ضَلَّ عَنْ سَبِيلِهِ وَهُوَ أَعْلَمُ بِالْمُهْتَدِينَ : النحل: 125
          "จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสุเจ้าโดยสุขุมและการตักเตือนที่ดีและจงโต้แย้งกับพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า"   (อัลนะฮฺลู: 125).

ความหมายศัพท์
            ادع : คำว่า ادع  ท่านอีหม่ามอิบนุกาซีรอธิบายว่าอัลลอฮฺได้ทรงสั่งให้ท่านรอซูลได้ชักชวนมนุษย์
الى سبيل ربك   หมายถึงสู่เส้นทางของอัลลอฮฺ (ศาสนาอิสลาม)
 با الحكمة : ท่านอาบีฮาซันกล่าวว่า بالحكمة  มีความหมายสองประการคือ ด้วยอัลกุรอานและอัลฮาดิษ
 وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ : เชคอัฮหมัดซอวีอธิบายว่าคำพูดที่ดีหรือการตักเตือนด้วยคำพูดที่อ่อนโยน
وجادلهم بالتي هي أحسن หมายถึงการโต้ตอบด้วยเหตุผลที่ดี
อรรถาธิบายโองการ
          อายะห์นี้อัลลอฮฺได้กล่าวถึงวิธีการเผยแผ่ศานาของท่านรอซูลมูฮัมหมัด ศ็อลฯ คำว่า أدع หมายถึงการชักชวน การเผยแผ่ การเรียกร้อง ในการเผยแผ่อิสลามนั้นได้อธิบายถึงยุทธศาสตร์การเผยแผ่ศาสนาของท่านรอซูลไว้ คือ ด้วยวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) การตักเตือนที่ดี และการพูดคุยโต้ตอบ ด้วยยุทธศาตร์ดังกล่าวได้แพร่ขยายสู่ศาสตร์วิชาอื่นๆ ด้วยกัน เช่น การสื่อสาร การจัดการเรียนการสอน เป็นต้น 
ในหนังสือตัฟซีรญาลาลัยน์ ได้อธิบายไว้ว่า
ادع الناس يا محمد صلى الله عليه وسلم إلى سَبِيلِ رَبّكَ دينه {بالحكمة} بالقرآن {والموعظة الحسنة} مواعظة أو القول الرقيق {وجادلهم بالتى} أي المجادلة التي {هِىَ أَحْسَنُ} كالدعاء إلى الله بآياته والدعاء إلى حججه {إِنَّ رَّبَّكَ هُوَ أَعْلَمُ} أي عالم {بِمَن ضَلَّ عَن سَبِيلِهِ وَهُوَ أَعْلَمُ بالمهتدين} فيجازيهم، وهذا قبل الأمر بالقتال. ونزل لما قتل حمزة
โอ้มูฮัมหมัด จงเรียกร้องมนุษย์สู่เส้นทางของพระองค์ ด้วยวิทยปัญญาของอัลกุรอาน ด้วยการตักเตือน (นาซีฮัต) หรือการพูดจาที่ดี และการโต้เถียงด้วยวิธีการโต้เถียงที่ดี อ่อนโยน
นักวิชาการได้อธิบายว่าอายะห์นี้เป็นการกล่าวถึงวิธีการเผยแผ่อิสลามไปสู่กลุ่มคนต่างๆในสังคม นักวิชาการที่ความรู้สูงจะต้องเผยแผ่ศาสนาด้วยวิธีการวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) บุคคลทั่วไปจะต้องเผยแผ่ด้วยวิธีการเป็นการตักเตือนและการชักชวนที่สามารถเข้าถึงใจของเขา ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาอื่นจะต้องเผยแผ่ด้วยวิธีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอ่อนโยนและมีเหตุผล
ถึงแม้อายะห์นี้จะกล่าวถึงหัวข้อสำคัญในการเผยแผ่ศาสนา แต่หากศึกษาอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่าการ  เผยแผ่ศาสนาและการศึกษานั้นมีความเหมือนอยู่ด้วยกันสี่ประการ คือ
  1. ผู้สอน/ดาอีย์ ในการเผยแผ่ศาสนานั้นเรียกว่าดาอีย์ ส่วนทางการศึกษาคือครูผู้สอน
  2. ผู้เรียน/มัดอู หมายถึงผู้เรียนหรือผู้ที่ถูกชักชวน
  3. เนื้อหา เนื้อหาของการเผยแผ่ศาสนานั้นส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาของศาสนา และการศึกษาจะเป็นความรู้ทั่วไปทั้งวิชาการศาสนาและสามัญ
  4. เป้าหมาย คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยกระบวนการและวิธีการต่างๆสู่การเป็นบ่าวที่ดีของพระองค์

ยุทธศาสตร์การสอนในซูเราะห์อัลนะฮ์ลู อายะห์ที่ 125
                การจัดการเรียนการสอนที่ดีนั้นผู้สอนจะต้องรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งจะทำให้การถ่ายทอดความรู้ด้วยการใช้เทคนิคและวิธีการสอนที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของผู้เรียน ท่านรอซูลได้กล่าวไว้ความว่า “จงกล่าวหรือชักชวนมนุษย์ให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้ฟัง” ในการจัดการเรียนการสอนนั้นเราสามารถแบ่งนักเรียนออกเป็นสามกลุ่มด้วยกัน คือ เก่ง ปานกลาง และอ่อน อายะห์นี้อัลลอฮฺ ซบ.ได้กล่าวถึงวิธีหรือยุทธศาสตร์การสอนไว้สามประการด้วยกัน คือ วิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) การตักเตือนที่ดี และการโต้เถียงที่ดี ซึ่งวิธีการดังกล่าวสอดคล้องกับการแบ่งกลุ่มนักเรียนในปัจจุบัน
1.    วิทยปัญญา (الحكمة)
นักวิชาการหลายท่านได้ให้คำนิยามของฮิกมะฮฺไว้ดังนี้
ซัฟวาน อัลฟานดี ได้อธิบายว่าฮิกมะฮฺ คือ คำพูดที่หนักแน่นและเที่ยงตรงที่สามารถแบ่งแยกถึงความชัดเจนระหว่างความดีและความชั่ว ส่วนกูรอยซฺ ซีฮาบ ( Quraish Shihab) อธิบายไว้ว่าฮิกมะฮฺ คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด ทั้งด้านความรู้และการกระทำ ฮิกมะฮฺหมายความรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถสร้างความดีและจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์ที่ดีหลีกเลี่ยงจากความชั่ว
มูฮัมหมัด อับดุฮได้อธิบายว่าฮิกมะฮฺ คือการใช้คำพูดสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งและกว้าง ส่วนอัลซามัคซารี กล่าวว่าฮิกมะฮฺหมายถึงสิ่งที่เป็นสัจธรรม หลักฐานที่เป็นจริง และคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งหมายถึงการชักชวนสู่เส้นทางของอัลกุรอานที่ครอบคลุมด้วยวิทยปัญญา
จากความหมายของนักวิชาการข้างต้น สามารถวิเคราะห์ถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนว่า วิธีสอนแบบวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) นี้ หมายถึงการถ่ายทอดความรู้ด้วยคำพูดที่นุ่มนวล อ่อนโยน แต่แฝงด้วยความจริงจัง มีเหตุและผลที่เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน เพราะวิธีการดังกล่าวจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้เรียน การใช้เทคนิคการสอนนี้ชี้ให้เห็นถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้สอนในการถ่ายทอดความรู้ การสอนด้วยเทคนิควิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ)นี้จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างเป็นกัลยาณมิตร มีการปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
ดังนั้น ฮิกมะฮฺจึงหมายถึงความสามารถทางด้านความรู้ทางด้านทฤษฎีและเทคนิควิธีการสอนต่างๆ ด้วยวิธีการสอนดังกล่าว ครูผู้สอนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียน เพื่อสร้างความเชื่อถือและความเชื่อมั่นของผู้เรียนที่มีต่อครูผู้สอน ซึ่งจะเปลียนจาก ครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Teacher oriented) ให้เป็น นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (student oriented) เพราะครูผู้สอนที่ดีจะต้องสามารถพัฒนาผู้เรียนไปสู่มนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา
2.    ตักเตือน    مَوْعِظَة                    
          ตามพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย مَوْعِظَة หมายถึงการตักเตือนหรือบทเรียน ในอายะห์นี้หมายถึงบทเรียนที่ดี ท่านญาลาลุดดีนได้กล่าวไว้ในหนังสือตัฟซีรของท่านว่าการตักเตือนและคำพูดที่อ่อนโยน ส่วน    กูรอยซฺ ซีฮาบ (Quraish Shihab) ได้อธิบายว่า مَوْعِظَة หมายถึงการให้คำตักเตือนและการเปรียบเทียบที่สามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้ฟังที่มีความสามารถพอประมาณได้ การตักเตือนจะต้องให้ด้วยคำพูดที่ดีและอ่อนโยนจึงจะสามารถสื่อถึงจิตใจของผู้ฟัง
                ญามาลุดดีน อับดุลเราะมัน อัลเญาซี ในหนังสือ “كتاب زاد المصير فى العلم التفسير ได้อธิบายไว้ว่า  مَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ มีสองประการคือบทเรียนจากอัลกุรอาน ดังที่ท่านอิบนุอับบาสได้กล่าวไว้ และมารยาทที่ดี ส่วน       ตัฟซีรอัลมานัรได้ให้ความหมายของ مَوْعِظَةِ ِ ว่าเป็นคำลักษณะนามจากคำว่า واعظ  หมายถึงการตักเตือนในสิ่งที่ดี หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่เลวร้าย ด้วยการให้ขวัญกำลังใจและให้เกิดการเกรงกลัวต่อบาปกรรม จนทำให้เกิดการปฏิบัติตนตามแนวทางที่ถูกต้อง
          นักวิชาการอธิบายความหมาย   الموعظة الحسنة ว่า :
-     บทเรียนและคำตักเตือน
-     เทคนิคการสอนด้วยการใช้คำพูดที่ดีและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี
-     การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน
-     การตักเตือน (นาซีฮัต) ที่ดี
การจัดการเรียนการสอนด้วยเทคนิคหรือวิธีนี้ ผู้สอนจะต้องรู้จักผู้เรียนและขจัดอัตตาที่มีอยู่ในตัวผู้เรียน เพราะผู้เรียนมีความต้องการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพราะการตักเตือนที่ดีจะต้องรู้จักใช้คำพูดที่ดี รู้จักเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม จึงจะทำให้เกิดผลดีต่อผู้เรียน
การตักเตือนที่ดี เป็นเทคนิคและวิธีการสอนในอิสลาม ที่จะทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ พร้อมและยอมรับการตักเตือนจากผู้สอน และพัฒนาตนเองให้ป็นบ่าวที่ดีของพระองค์
จากความหมายข้างต้น จึงสรุปได้ว่า คำตักเตือนนั้นจะต้องใช้วาจาที่นุ่มนวล อ่อนโยน และไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ฟัง จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับจะต้องหมองใจกัน นอกจากนั้นการให้คำตักเตือนนั้นจะต้องดูสภาพการณ์และสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยด้วย
          สิ่งสำคัญในการตักเตือนนั้น ผู้สอนจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎีการเรียนรู้เท่านั้น เช่น หากจะสอนเกี่ยวกับการบริจาคทาน ผู้สอนก็จะต้องเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมในการบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้ ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ว่า “จงเริ่มต้นจากตัวเองก่อน” การสอนด้วยวิธีการเป็นแบบอย่างนี้อัลลอฮฺก็ได้กล่าวไว้ใน ซุเราะห์อัศศอฟ อายะห์ที่ 2-3 ว่า
          “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เหตุใดเจ้าได้กล่าวบางอย่าง แต่เจ้าไม่ได้ทำ แท้จริงแล้วอัลลอฮฺทรงกริ้วแก่ผู้ที่กล่าวแล้วไม่ได้กระทำตามที่ได้กล่าวไว้”
          อายะห์ดังกล่าวสามารถสรุปบทเรียนทางการศึกษา คือ คำพูดที่เปี่ยมด้วยความรัก ความจริงใจที่สามารถสื่อถึงจิตใจของผู้ฟัง การตักเตือน การให้คำปรึกษา และการแนะนำสิ่งดีๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ฟังได้ กระบวนการเรียน
3.    การโต้ตอบ ((جادل
อิหม่ามตันฏอวีย์ได้ให้ความของ جادل ว่าการเอาชนะผู้อื่นด้วยหลักฐานและเหตุผลที่เหนือกว่า ส่วนอัลนาซาฟีย์ได้อธิบายว่าการให้เหตุผลและการโต้ตอบด้วยคำพูดที่อ่อนโยน ที่สามารถเข้าถึงจิตใจ และสามารถจุดประกายความคิดของผู้ฟังได้ ส่วนอิหม่ามญาลาลุดดีน ได้อธิบายว่าการโต้ตอบหรือการถกเถียงด้วยวิธีการที่ดี ด้วยหลักเหตุและผลที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์
ส่วน กูรอยซฺ ซีฮาบ (Quraish Shihab) ได้อธิบายถึงความหมายของ جادل ว่าการอภิปรายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย การอภิปรายที่ดีจะต้องรู้จักการใช้วาทศิลป์ ไม่ใช้คำพูดที่หยาบคาย ในอายะห์อัลลอฮฺได้ย้ำเตือนอีกว่าในการอภิปรายนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดี (حسنة)
เป้าหมายสำคัญที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในอายะห์นี้ คือ การโต้เถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยวิธีการที่ดี ซึ่งนักวิชาการได้สรุปไว้ว่า การโต้เถียงที่ดีนั้น (وجادلهم بالتي هي أحسن) คือ
-     การโต้ตอบที่ดี ให้ประโยชน์ รู้จักอดทนและอดกลั้น มีความอ่อนโยน และพร้อมยอมรับความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา
-     การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ทำให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย
-     การโต้เถียงที่ดีจะต้องรู้จักการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความไม่พอใจหรือเคียดแค้น
การศึกษาในปัจจุบันที่ได้เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ วิธีการสอนแบบอภิปราย เสวนา หรือการสัมมนาจึงเป็นวิธีการสอนอีกแบบหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะหื และหาข้อสรุปด้วยตัวเอง โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ให้คำปรึกษา 
การอภิปรายหรือการโต้แย้งจะต้องดำเนินด้วยการใช้คำพูดที่ดี ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ใช้สติปัญญาในการหาข้อมูลโต้แย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงและความถูกต้อง อัลลอฮฺทรงห้ามการใช้อารมณ์ในการตัดสินบางสิ่งบางอย่าง จนทำให้เกิดการปะทะคารม ส่งผลทำให้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกันจนเกิดเป็นศัตรูขึ้น เป้าหมายสำคัญในการสอนวิธีการร่วมอภิปรายหรือการโต้แย้งนี้ เพื่อฝึกให้ผู้เรียนเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี รู้จักการใช้สติปัญญาในการหาเหตุผลมาใช้ในการหาข้อเท็จจริง
ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในเทคนิคการสอนนี้คือการอภิปรายหรือโต้วาที การเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การพูดคุยด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน จุดประสงค์ของการใช้เทคนิคการสอนด้วยวิธีนี้เพื่อให้เกิดการใช้ความคิดเห็นในการค้นหาความจริง การใช้สติปัญญาในการใช้เหตุและผลในการตัดสินใจ การใช้คำพูดที่ดีที่ทำให้ผู้ร่วมสนทนาเกิดความพอใจและรู้สึกเป็นกัลยาณมิตร
สรุป
          การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญต่อมนุษย์ทุกคน เพราะการศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งด้านจิตพิสัย ปัญญาพิสัย และทักษะพิสัย การจัดการเรียนการสอนเป็นการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ที่ทุกองค์ประกอบจะต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และองค์ประกอบสำคัญที่นำกระบวนการเรียนรู้สำเร็จถึงเป้าหมายที่วางไว้คือ เทคนิคและวิธีการสอน เพราะเทคนิคและวิธีการสอนจะนำสู่เป้าหมายได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
          ซูเราะห์อัลนะฮ, อายะห์ที่ 125 ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การสอนไว้สามประการ คือ
1.     การสอนด้วยวิธีวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) คือการสอนที่ให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างเป็นสัจธรรม หายจากความเคลือบแคลง สงสัย ด้วยการใช้คำพูดที่สามารถสื่อถึงจิตใจของผู้ฟัง
2.     การสอนด้วยวิธีการตักเตือนที่ดี คือ การตักเตือนหรือการชี้แนะด้วยวาจาที่นุ่มนวล อ่อนโยน และเป็นแบบอย่างที่ดี
3.     การสอนโดยวิธีการโต้ตอบหรือการอภิปราย คือ การโต้ตอบและยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจ

อ้างอิง :
1.   Al-Qur’an tarjamah DEPAG
2.   Tafsir Ibnu Katsir
3.   Tafsir Al-Baghawi (  Maktabah Syamela )
4.   Kitab Al-hidayah Ila Bulughi al-Nihayah
5.   Zad Al-masir fi ‘Ilmi al-Tafsir
6.   Kamus al-Munawir


วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การลงโทษนักเรียน

                                                                               การลงโทษนักเรียน
ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เป็นเรืองที่ทุกคนทุกสาขาอาชีพ สถาบัน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจ เพราะเด็กเกี่ยวข้องกับทุกๆคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดาหรือไม่ก็ตาม เด็กมีส่วนสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของสังคม ดั่งที่ท่าน ศ.ดร.ฮัมกา นักวิชาการชาวอินโดนีเซียได้กล่าวไว้ว่า จะดูอนาคตของสังคมๆหนึ่งนั้น ก็จงดูเด็กในวันนี้เถิด เพราะในอนาคตเด็กๆเหล่านี้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้า หรือคำคมของอาหรับที่ว่า  เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า (شباب اليوم رجال غدا)
          เด็กเป็นหัวใจของสังคม หากสังคมได้ทุ่มเทให้ความสำคัญแก่เด็ก และเด็กได้รับการเลี้ยงดูอบรมที่ดีอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ก็เชื่อได้ว่าสังคมจะมีความมั่นคงและมีอนาคตที่รุ่งโรจน์ ในทางตรงกันข้าม หากเด็กถูกปล่อยปละละเลยหรือได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ความเสียหายล่มจมก็จะต้องเกิดขึ้นกับสังคมในอนาคต
                คำสอนของอิสลามที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานและอัลฮาดิษนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ได้แบ่งช่วงอายุต่างๆของเด็กไว้อย่างละเอียดอย่างที่นักวิชาการศึกษาเกี่ยวกับเด็กและนักจิตวิทยาปัจจุบันได้แบ่งเอาไว้ ส่วนการกล่าวถึงอายุบางช่วงของเด็ก เป็นการกล่าวไว้เพื่อประโยชน์ในการนำมาสู่การเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยเด็กและชี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของช่วงอายุนั้นๆดังที่ผู้เขียนจะได้นำมากล่าวไว้พอสังเขป
1.             วัยทารกในครรภ์มารดา เริ่มตั้งแต่การมีปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิของเพศชาย (บิดา) กบไข่ของเพศหญิง (มารดา) จนถึงกำหนดคลอดโดยประมาณ 9 เดือน
2.             วัยทารกดื่มน้ำนมมารดา ตั้งแต่แรกเกิด 2 หรือ 2 ปีครึ่ง
3.             วัยเด็กที่ต้อกำชับในเรื่องการนมาซและบัญญัติอิสลามอื่นๆ 7 10 ปี
4.             วัยเด็กที่ต้องมีการทำโทษ (เฆี่ยนตี) เมื่อละเลยหรือละเทมิดบัญญัติอิสลาม และต้องแยกที่นอนของเด็กๆ (ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศกัน)ออกจากกันเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป (อนัส แสงอารีย์, 2546:19 )
การลงโทษด้วยารตีนั้นควรเป็นวิธีสุดท้ายและใช้ให้น้อยครั้งที่สุด ไม่ควรทำกับลูกที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ ดังคำกล่าวของท่านรอซูลของอัลลอฮฺ ซบ. ไว้ว่า
مروا أولادكم بالصلاة لسبع واضربو هم عليها لعسر وفرقوا بينهم في المضاجع
                ความว่า พวกเจ้าจงใช้ให้ลูกหลานของเจ้าละหมาด เมื่อพวกเขาอายุเจ็ดขวบ และตีเขาเมื่ออายุสิบขวบ และจงแยกพวกเขาจากการนอนด้วยกัน(รายงานโดยอิหม่ามอัห์หมัดและอิหม่ามอาบูดาวูด) (อามีนะห์ ดำรงผล, 2546 : 18)
                จากการแบ่งช่วงอายุของบรรดานักวิชาการและในทัศนะของอิสลามดังกล่าว เราสังเกตเห็นได้ว่าเด็กที่มีอายุระหว่าง 7 10 ปี เป็นวัยที่ควรจะเรียนรู้หน้าที่ของมุสลิมและหัดปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจริงจัง ผู้ใหญ่ควรดูแลให้เด็กมีชุดละหมาดที่สะอาดอยู่เสมอ หัดให้ถือศิลอด หัดให้เด็กรู้จักการบริจาคทานเป็นต้น แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเสมอว่าเรื่องของการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของการนมาซและเรื่องอื่นๆนั้นต้องมีมาการออกคำสั่งบังคับเด็กให้ปฏิบัติในเรื่องนั้นๆด้วยวิธีการที่สอดคล้องและเหมาะสมกับวัยของเขา และวิธีการที่ดีที่สุดก่อนจะมีการบังคับ คือการสร้างแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้เห็นและปฏิบัติตาม
                ปัจจุบันเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไปพ่อแม่ก็จะพาเด็กไปเข้าเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ดังนั้นเมื่อเด็กอยู่ในการดูแลและการอบรมของครูที่โรงเรียนจึงจะเกิดปัญหาขึ้นมาว่าการที่ครูตีเด็กนั้นสมควรหรือไม่? การลงโทษเด็กด้วนการตีนั้น มีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เพื่อที่จะอบรมสั่งสอนเด็กในบ้านและโรงเรียน ศาสนาอิสลามได้ผ่อนปรนให้มีการตีภรรยาที่ดื้อรั้นและให้แยกที่นอน หากนางไม่เชื่อคำฟังคำตักเตือนที่ดี แต่ทว่าการตีนั้นจะต้องไม่ตีรุนแรงเกินไป และควรคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเพื่อลงโทษ
                สมัยก่อนท่านอุมัรอิบนุค็อฏฏอบได้รายงานว่า ได้มีเด็กชายคนหนึ่งเข้ามาหาท่าน และเด็กคนนั้นก็ได้แต่งผม และสวมเสื้อผ้าสวยงาม ท่านอุมัรได้ตีเด็กคนนั้นด้วยแซ่จนร้องไห้ นางฮับเสาะก็ได้ถามท่านว่า ท่านตีเขาทำไม ท่านอุมัรจึงตอบว่า เพราะการแต่งตัวเช่นนั้นมันทำให้เขาหยิ่งยโส ดังนั้นฉันจึงทำให้เขาถ่อมตัวลง (จากหนังสือประวัติศาสตร์คุลาฟะฮฺ ของท่านอิมามซูยูฏีย์) และบรรดาอามีรุ้ลมุมีนีนก็ได้อนุญาตให้ทำการอบรมเด็กๆและทำโทษด้วยการตีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และการตีนั้นก็ต้องเพื่อการอบรมสั่งสอน ไม่ใช่เพราะเหตุผลส่วนตัว
                ท่นอิมามอาลีกล่าวไว้ว่า
ادب صغار بيتك بلسانك على الصلاة والطهور, فإذ بلغوا عشر سنين فاضرب ولا تجاوز ثلاثا
                ความว่า เจ้าจงสั่งสอนให้ลูกๆของพวกเจ้าทำการละหมาดและรักษาความสะอาด หากลูกๆของเจ้าไม่ปฏิบัติตาม ในขณะที่อายุครบ 7 ขวบ เจ้าจงลงโทษ (ตี) แต่ไม่เกินสามที
ท่านอิบนุฮาญัร อัลไฮตามีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.974) กล่าวว่าการตีนักเรียนจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อน และจะต้องคาดหมายว่าการตีนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่หนักมือจนถึงขนาดเลือดตกยางออก แห่หากคาดว่าไม่มีประโยชน์ เว้นแต่จะต้องตีรุนแรงเท่านั้นก็ไม่เป็นที่อนุญาตโดยหลักอิจมาอฺของปวงปราชญ์ เพราะการลงโทษนั้น เป็นที่อนุญาตให้ทำได้ก็ต่อเมื่อคิดว่ามีประโยชน์ แต่หากการลงโทษที่นำไปสู่ภยันตรายถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสก็ไม่เป็นที่อนุญาต
ได้มีคนถามชีคอัลดุลอาซิซบินบาซ(เราะฮิมะฮุลลอฮฺ)ว่า ..
            บัญญัติ(ฮุกุม)การตีเด็กนักเรียนเพื่อการเรียนการสอน และให้เขาเน้นถึงแบบฝึกหัดและการบ้านที่ให้แก่เขาและเพื่อนเขาไม่ละเลยในแบบฝึกหัดนั้นเป็นเช่นใด?  :
           ท่านชีคอัลดุลอาซิซบินบาซ(เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) ได้ตอบว่า การตีในลักษณะนี้ไม่ถือว่ามีความผิดอะไร  ครูไม่ว่าชายหรือหญิงและบิดามารดา ทุกคนจะต้องดูแลเด็กๆ และอบรมสั่งสอนเด็กๆให้ห่างจากพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และกระทำในพฤติกรรมที่ดีที่พึ่งประสงค์(ศอลิฮฺ) เด็กไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ให้ตีเมื่อเขาไม่ละหมาดและมีอายุครบสิบปีแล้ว เป็นการสั่งสอนให้เขามั่นคงในการละหมาด หรืองานอื่นๆที่เขาควรกระทำ อย่างการเรียนหรืองานบ้าน ผู้ปกครองของเด็กชายหรือเด็กหญิงจะต้องอบรมสั่งสอนเขา ถ้าต้องตีก็ให้ตีอย่างเบาๆไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆแก่เขา เพื่อให้เขาปฏิบัติตนตามที่คาดหวังไว้ (ฟาตาวา ชีคบินบาซ เล่มที่ 6 หน้า 403 )
สิ่งที่ครูควรระวัง คือ ในการตีเด็กแต่ละครั้งควรจะนับจำนวนที่ตีด้วย โดยการตีไม่ควรเกินสิบทีหรือสิบไม้ เว้นแต่ในกรณีการลงเทศทางอาญา(ฮุดูด) ท่านอิบนุก็อยยิม-เราะฮิมาฮุลลอฮฺ-ได้กล่าวว่า ..
การที่ท่านนบี (ศ็อล) ได้กล่าวว่า
لا يضرب فوق عشرة أسواط إلا فى حد من حدود الله
ความว่า อย่าลงโทษเกินกว่าตีสิบไม้ เว้นแต่ในเรื่องที่อัลลอฮฺได้กำหนด
มีคนถามว่า ตีสิบครั้งตรงไหน(เรื่องอะไร) และที่ไม่ใช่คือเรื่องอะไร
บางคนตอบว่า ผู้ชายตีภรรยาของตน บ่าวทาส ลูก หรือลูกจ้าง เพื่อเป็นการสั่งสอน จะตีเกินกว่าสิบไม้ไม่ได้ และนี้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่ฮาดิษได้กำหนดมา
จริงแล้วการตี(หรือการลงโทษ)ไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะกระตุ้นให้เด็กขยันในการอ่านหนังสือ ครูควรจะผสมผสานกันระหว่างวิธีการเสริมแรงและการลงโทษเพื่อให้ได้สิ่งที่พึงประสงค์ เช่น ชมเชยนักเรียนเรียนดีและสนับสนุนเขาด้วยการให้รางวัลหรือให้คะแนนที่สูง ส่วนนักเรียนที่ยังไม่เป็นตามที่พึงประสงค์ให้ลงโทษเขาด้วยการให้คะแนนน้อยกว่าที่คนทำดี และพูดว่ากล่าวเป็นการคาดโทษ เป็นต้น
 ครูจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กนักเรียนไม่ใช่ทำไปเพื่อการลงโทษเท่านั้น ท่านนบี (ศ็อล)ได้เน้นในตลอดชีวิตของการเป็นนบีของท่านด้วยการอบรมสั่งสอน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆและเยาวชน เพราะเด็กและเยาวชนคือผู้ที่จะอยู่ในสังคมผู้ใหญ่ต่อไป พวกเขาคือผู้เลือกแนวทางในสังคมให้เป็นไปอย่างสงบสุขหรือความปั่นป่วน ในฮาดิษไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการกระทำของท่าน มีหลายบทหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษานี้มาก อย่างเช่นมีฮาดิษหนึ่งว่า
طلب العلم فريضة لكل مسلم
การศึกษาหาความรู้นั้น เป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องศึกษา โดยเฉพาะวิชาความรู้ที่เป็นพื้นฐานของชีวิต (ฟัรฎูอีน) ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางด้านศาสนาหรือการศึกษาด้านวิชาการสามัญหรือการศึกษาประสบการณ์ชีวิตด้านอื่นๆ
นอกจากตัวบุคคลเองแล้วที่เป็นผู้ต้องศึกษา ผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย โดยจะต้องจัดการศึกษาให้แก่ทุกคนอย่างพอเพียงกับความต้องการของสังคม ท่านนบี ศ็อลฯ ได้สั่งให้แก่พ่อแม่ของเด็กว่า
أحسنوا أدبهم أكرموا أولادكم  ( رواه أحسنوا أدبهم أكرموا أولادكم  ( رواه ابن ماجه )
          ความว่า พวกเจ้าจงให้เกียรติลูกๆของพวกเจ้า และจงให้การอบรมสั่งสอนที่ดี
                เป็นเรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่หรือครูผู้สอนที่จะใช้วินัยพร้อมกับการใช้ปัญญาในการสั่งสอนเด็ก ไม่ตำหนิหรือลงโทษอยู่ตลอดเวลา โดยการชมเชยยกย่องเด็กแทนการดุด่าถือโทษตลอดเวลา เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีการยกย่องชมเชยจะเติบโตอย่างมีความสุขสร้างสรรค์และเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่าเด็กที่ถูกตำหนิอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่หรือครูควรควบคุมอารมณ์เมื่อโกรธเด็ก และควรสอนให้เด็กควบคุมอารมณ์เช่นกัน คนเราสามารถเกิดอารมณ์โกรธได้ง่ายแม้แต่เรื่องเล็กน้อยๆ อย่างไรก็ตาม การยับยั้งความโกรธเป็นเรื่องของความเข้มแข็งและการควบคุมตนเอง นอกจากนี้ หากจะลงโทษเด็กทางร่างกาย ก็ควรกระทำด้วยความนุ่มนวล ท่านศาสดามูฮัมหมัด ศ็อลฯ ห้ามไม่ให้ตบหน้าผู้อื่นและหากจำเป็นก็ควรใช้วิธีตีก้นเป็นวิธีสุดท้ายแต่ต้องไม่สร้างความเสียหายใดๆ (ฟารามาซ, 2541 : 56)

                บทสรุปทางการศึกษา
1.             การลงโทษนักเรียนนั้นครูผู้สอนสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล      
2.             การลงโทษนักเรียนด้วยการตี จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง หรือครูผู้สอนได้ทำความเข้าใจและตกลงกับผู้ปกครองนักเรียน ไม่ใช่ทำไปโดยพละการหรือตามอารมณ์ของตนเอง
3.             การลงโทษด้วยการตี เป็นวิธีสุดท้าย ดังนั้นครูผู้สอนควรหาวิธีการลงโทษแบบอื่นโดยการใช้เทคนิคการเสริมแรงและการถอดถอนในสิ่งที่พึงพอใจ
4.             การตีไม่ควรเกินกว่าสามที โดยที่นักเรียนต้องไม่ได้รับอันตรายใดๆ


หนังสืออ้างอิง

ฟารามาซ บิน มุฮัมมัด เราะห์บัร (ปาริตฉัตต์ ผู้แปล), 2541, เลี้ยงลูกให้ถูกทางตามคำสอนของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ, กรุงเทพ:นัทชา พับลิชชิ่ง
สากีนะห์ บอสู , 2543, คุณธรรมของลูก, กรุงเทพ: มุสลิมนิวส์
อามีนะห์ ดำรงผล,2546, เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีแบบอิสลาม, กรุงเทพมหานคร : เอดีสันเพรสโพรดักส์
อนัส  แสงอารีย์, 2546, เด็กในทัศนะอิสลาม, กรุงเทพมหานคร: ศูรนย์ภาษาธรรม
 a.Mohm Azwar, 2006, Petua Membentuk Anak Pintar dan Kreatif, Kuala Lumpor: Jasmin Enterprice