วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

การสอนอิสลามศึกษา

วิธีการสอน / ยุทธศาสตร์การสอน
การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เพราะการศึกษาคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ดังนั้นการศึกษาอิสลามจึงมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างคนให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบในการบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺสามารถประกอบศาสนกิจได้ถูกต้อง ดำเนินชีวิตเพื่อเป็นคนดีของสังคม และเป็นประชาชาติที่ดีของมวลมนุษยชาติ
วิธีการสอนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ให้ประสบผลสำเร็จทั้งทางด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล วิธีการสอนหรือยุทธศาสตร์การสอนจึงต้องสอดคล้องกับเนื้อหาและเป้าหมายของการจัดการศึกษา  ในบทกวีอาหรับบทหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า วิธีการมีความสำคัญกว่าเนื้อหา ซึ่งบทกว่าดังกล่าวได้เปรียบเทียบให้เห็นว่าในการดำเนินการเรียนการสอน ถึงแม้นจะมีความรู้มากสักเพียงใด แต่หากไม่มีเทคนิคและวิธีการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ฟัง ก็ไม่สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์นั้นได้ แต่ในขณะเดียวกันหากแม้นมีความรู้เพียงเล็กน้อย แต่มีความรู้ความสามารถด้านเทคนิคและวิธีการถ่ายทอดแล้วก็สามารถไปถึงจุดประสงค์ได้ดียิ่งกว่า
อัลกุรอานได้กล่าวถึงวิธีการสอนหรือเทคนิคการสอนไว้ในซูเราะห์อัลนะฮฺลู อายะห์ที่ 125 ไว้ว่า
ادْعُ إِلَى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُمْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ إِنَّ رَبَّكَ هُوَ أَعْلَمُ بِمَنْ ضَلَّ عَنْ سَبِيلِهِ وَهُوَ أَعْلَمُ بِالْمُهْتَدِينَ : النحل: 125
          "จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสุเจ้าโดยสุขุมและการตักเตือนที่ดีและจงโต้แย้งกับพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า"   (อัลนะฮฺลู: 125).

ความหมายศัพท์
            ادع : คำว่า ادع  ท่านอีหม่ามอิบนุกาซีรอธิบายว่าอัลลอฮฺได้ทรงสั่งให้ท่านรอซูลได้ชักชวนมนุษย์
الى سبيل ربك   หมายถึงสู่เส้นทางของอัลลอฮฺ (ศาสนาอิสลาม)
 با الحكمة : ท่านอาบีฮาซันกล่าวว่า بالحكمة  มีความหมายสองประการคือ ด้วยอัลกุรอานและอัลฮาดิษ
 وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ : เชคอัฮหมัดซอวีอธิบายว่าคำพูดที่ดีหรือการตักเตือนด้วยคำพูดที่อ่อนโยน
وجادلهم بالتي هي أحسن หมายถึงการโต้ตอบด้วยเหตุผลที่ดี
อรรถาธิบายโองการ
          อายะห์นี้อัลลอฮฺได้กล่าวถึงวิธีการเผยแผ่ศานาของท่านรอซูลมูฮัมหมัด ศ็อลฯ คำว่า أدع หมายถึงการชักชวน การเผยแผ่ การเรียกร้อง ในการเผยแผ่อิสลามนั้นได้อธิบายถึงยุทธศาสตร์การเผยแผ่ศาสนาของท่านรอซูลไว้ คือ ด้วยวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) การตักเตือนที่ดี และการพูดคุยโต้ตอบ ด้วยยุทธศาตร์ดังกล่าวได้แพร่ขยายสู่ศาสตร์วิชาอื่นๆ ด้วยกัน เช่น การสื่อสาร การจัดการเรียนการสอน เป็นต้น 
ในหนังสือตัฟซีรญาลาลัยน์ ได้อธิบายไว้ว่า
ادع الناس يا محمد صلى الله عليه وسلم إلى سَبِيلِ رَبّكَ دينه {بالحكمة} بالقرآن {والموعظة الحسنة} مواعظة أو القول الرقيق {وجادلهم بالتى} أي المجادلة التي {هِىَ أَحْسَنُ} كالدعاء إلى الله بآياته والدعاء إلى حججه {إِنَّ رَّبَّكَ هُوَ أَعْلَمُ} أي عالم {بِمَن ضَلَّ عَن سَبِيلِهِ وَهُوَ أَعْلَمُ بالمهتدين} فيجازيهم، وهذا قبل الأمر بالقتال. ونزل لما قتل حمزة
โอ้มูฮัมหมัด จงเรียกร้องมนุษย์สู่เส้นทางของพระองค์ ด้วยวิทยปัญญาของอัลกุรอาน ด้วยการตักเตือน (นาซีฮัต) หรือการพูดจาที่ดี และการโต้เถียงด้วยวิธีการโต้เถียงที่ดี อ่อนโยน
นักวิชาการได้อธิบายว่าอายะห์นี้เป็นการกล่าวถึงวิธีการเผยแผ่อิสลามไปสู่กลุ่มคนต่างๆในสังคม นักวิชาการที่ความรู้สูงจะต้องเผยแผ่ศาสนาด้วยวิธีการวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) บุคคลทั่วไปจะต้องเผยแผ่ด้วยวิธีการเป็นการตักเตือนและการชักชวนที่สามารถเข้าถึงใจของเขา ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาอื่นจะต้องเผยแผ่ด้วยวิธีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอ่อนโยนและมีเหตุผล
ถึงแม้อายะห์นี้จะกล่าวถึงหัวข้อสำคัญในการเผยแผ่ศาสนา แต่หากศึกษาอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่าการ  เผยแผ่ศาสนาและการศึกษานั้นมีความเหมือนอยู่ด้วยกันสี่ประการ คือ
  1. ผู้สอน/ดาอีย์ ในการเผยแผ่ศาสนานั้นเรียกว่าดาอีย์ ส่วนทางการศึกษาคือครูผู้สอน
  2. ผู้เรียน/มัดอู หมายถึงผู้เรียนหรือผู้ที่ถูกชักชวน
  3. เนื้อหา เนื้อหาของการเผยแผ่ศาสนานั้นส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาของศาสนา และการศึกษาจะเป็นความรู้ทั่วไปทั้งวิชาการศาสนาและสามัญ
  4. เป้าหมาย คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยกระบวนการและวิธีการต่างๆสู่การเป็นบ่าวที่ดีของพระองค์

ยุทธศาสตร์การสอนในซูเราะห์อัลนะฮ์ลู อายะห์ที่ 125
                การจัดการเรียนการสอนที่ดีนั้นผู้สอนจะต้องรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งจะทำให้การถ่ายทอดความรู้ด้วยการใช้เทคนิคและวิธีการสอนที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของผู้เรียน ท่านรอซูลได้กล่าวไว้ความว่า “จงกล่าวหรือชักชวนมนุษย์ให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้ฟัง” ในการจัดการเรียนการสอนนั้นเราสามารถแบ่งนักเรียนออกเป็นสามกลุ่มด้วยกัน คือ เก่ง ปานกลาง และอ่อน อายะห์นี้อัลลอฮฺ ซบ.ได้กล่าวถึงวิธีหรือยุทธศาสตร์การสอนไว้สามประการด้วยกัน คือ วิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) การตักเตือนที่ดี และการโต้เถียงที่ดี ซึ่งวิธีการดังกล่าวสอดคล้องกับการแบ่งกลุ่มนักเรียนในปัจจุบัน
1.    วิทยปัญญา (الحكمة)
นักวิชาการหลายท่านได้ให้คำนิยามของฮิกมะฮฺไว้ดังนี้
ซัฟวาน อัลฟานดี ได้อธิบายว่าฮิกมะฮฺ คือ คำพูดที่หนักแน่นและเที่ยงตรงที่สามารถแบ่งแยกถึงความชัดเจนระหว่างความดีและความชั่ว ส่วนกูรอยซฺ ซีฮาบ ( Quraish Shihab) อธิบายไว้ว่าฮิกมะฮฺ คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด ทั้งด้านความรู้และการกระทำ ฮิกมะฮฺหมายความรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถสร้างความดีและจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์ที่ดีหลีกเลี่ยงจากความชั่ว
มูฮัมหมัด อับดุฮได้อธิบายว่าฮิกมะฮฺ คือการใช้คำพูดสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งและกว้าง ส่วนอัลซามัคซารี กล่าวว่าฮิกมะฮฺหมายถึงสิ่งที่เป็นสัจธรรม หลักฐานที่เป็นจริง และคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งหมายถึงการชักชวนสู่เส้นทางของอัลกุรอานที่ครอบคลุมด้วยวิทยปัญญา
จากความหมายของนักวิชาการข้างต้น สามารถวิเคราะห์ถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนว่า วิธีสอนแบบวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) นี้ หมายถึงการถ่ายทอดความรู้ด้วยคำพูดที่นุ่มนวล อ่อนโยน แต่แฝงด้วยความจริงจัง มีเหตุและผลที่เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน เพราะวิธีการดังกล่าวจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้เรียน การใช้เทคนิคการสอนนี้ชี้ให้เห็นถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้สอนในการถ่ายทอดความรู้ การสอนด้วยเทคนิควิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ)นี้จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างเป็นกัลยาณมิตร มีการปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
ดังนั้น ฮิกมะฮฺจึงหมายถึงความสามารถทางด้านความรู้ทางด้านทฤษฎีและเทคนิควิธีการสอนต่างๆ ด้วยวิธีการสอนดังกล่าว ครูผู้สอนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียน เพื่อสร้างความเชื่อถือและความเชื่อมั่นของผู้เรียนที่มีต่อครูผู้สอน ซึ่งจะเปลียนจาก ครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Teacher oriented) ให้เป็น นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (student oriented) เพราะครูผู้สอนที่ดีจะต้องสามารถพัฒนาผู้เรียนไปสู่มนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา
2.    ตักเตือน    مَوْعِظَة                    
          ตามพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย مَوْعِظَة หมายถึงการตักเตือนหรือบทเรียน ในอายะห์นี้หมายถึงบทเรียนที่ดี ท่านญาลาลุดดีนได้กล่าวไว้ในหนังสือตัฟซีรของท่านว่าการตักเตือนและคำพูดที่อ่อนโยน ส่วน    กูรอยซฺ ซีฮาบ (Quraish Shihab) ได้อธิบายว่า مَوْعِظَة หมายถึงการให้คำตักเตือนและการเปรียบเทียบที่สามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้ฟังที่มีความสามารถพอประมาณได้ การตักเตือนจะต้องให้ด้วยคำพูดที่ดีและอ่อนโยนจึงจะสามารถสื่อถึงจิตใจของผู้ฟัง
                ญามาลุดดีน อับดุลเราะมัน อัลเญาซี ในหนังสือ “كتاب زاد المصير فى العلم التفسير ได้อธิบายไว้ว่า  مَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ มีสองประการคือบทเรียนจากอัลกุรอาน ดังที่ท่านอิบนุอับบาสได้กล่าวไว้ และมารยาทที่ดี ส่วน       ตัฟซีรอัลมานัรได้ให้ความหมายของ مَوْعِظَةِ ِ ว่าเป็นคำลักษณะนามจากคำว่า واعظ  หมายถึงการตักเตือนในสิ่งที่ดี หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่เลวร้าย ด้วยการให้ขวัญกำลังใจและให้เกิดการเกรงกลัวต่อบาปกรรม จนทำให้เกิดการปฏิบัติตนตามแนวทางที่ถูกต้อง
          นักวิชาการอธิบายความหมาย   الموعظة الحسنة ว่า :
-     บทเรียนและคำตักเตือน
-     เทคนิคการสอนด้วยการใช้คำพูดที่ดีและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี
-     การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน
-     การตักเตือน (นาซีฮัต) ที่ดี
การจัดการเรียนการสอนด้วยเทคนิคหรือวิธีนี้ ผู้สอนจะต้องรู้จักผู้เรียนและขจัดอัตตาที่มีอยู่ในตัวผู้เรียน เพราะผู้เรียนมีความต้องการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพราะการตักเตือนที่ดีจะต้องรู้จักใช้คำพูดที่ดี รู้จักเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม จึงจะทำให้เกิดผลดีต่อผู้เรียน
การตักเตือนที่ดี เป็นเทคนิคและวิธีการสอนในอิสลาม ที่จะทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ พร้อมและยอมรับการตักเตือนจากผู้สอน และพัฒนาตนเองให้ป็นบ่าวที่ดีของพระองค์
จากความหมายข้างต้น จึงสรุปได้ว่า คำตักเตือนนั้นจะต้องใช้วาจาที่นุ่มนวล อ่อนโยน และไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ฟัง จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับจะต้องหมองใจกัน นอกจากนั้นการให้คำตักเตือนนั้นจะต้องดูสภาพการณ์และสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยด้วย
          สิ่งสำคัญในการตักเตือนนั้น ผู้สอนจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎีการเรียนรู้เท่านั้น เช่น หากจะสอนเกี่ยวกับการบริจาคทาน ผู้สอนก็จะต้องเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมในการบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้ ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ว่า “จงเริ่มต้นจากตัวเองก่อน” การสอนด้วยวิธีการเป็นแบบอย่างนี้อัลลอฮฺก็ได้กล่าวไว้ใน ซุเราะห์อัศศอฟ อายะห์ที่ 2-3 ว่า
          “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เหตุใดเจ้าได้กล่าวบางอย่าง แต่เจ้าไม่ได้ทำ แท้จริงแล้วอัลลอฮฺทรงกริ้วแก่ผู้ที่กล่าวแล้วไม่ได้กระทำตามที่ได้กล่าวไว้”
          อายะห์ดังกล่าวสามารถสรุปบทเรียนทางการศึกษา คือ คำพูดที่เปี่ยมด้วยความรัก ความจริงใจที่สามารถสื่อถึงจิตใจของผู้ฟัง การตักเตือน การให้คำปรึกษา และการแนะนำสิ่งดีๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ฟังได้ กระบวนการเรียน
3.    การโต้ตอบ ((جادل
อิหม่ามตันฏอวีย์ได้ให้ความของ جادل ว่าการเอาชนะผู้อื่นด้วยหลักฐานและเหตุผลที่เหนือกว่า ส่วนอัลนาซาฟีย์ได้อธิบายว่าการให้เหตุผลและการโต้ตอบด้วยคำพูดที่อ่อนโยน ที่สามารถเข้าถึงจิตใจ และสามารถจุดประกายความคิดของผู้ฟังได้ ส่วนอิหม่ามญาลาลุดดีน ได้อธิบายว่าการโต้ตอบหรือการถกเถียงด้วยวิธีการที่ดี ด้วยหลักเหตุและผลที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์
ส่วน กูรอยซฺ ซีฮาบ (Quraish Shihab) ได้อธิบายถึงความหมายของ جادل ว่าการอภิปรายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย การอภิปรายที่ดีจะต้องรู้จักการใช้วาทศิลป์ ไม่ใช้คำพูดที่หยาบคาย ในอายะห์อัลลอฮฺได้ย้ำเตือนอีกว่าในการอภิปรายนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดี (حسنة)
เป้าหมายสำคัญที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในอายะห์นี้ คือ การโต้เถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยวิธีการที่ดี ซึ่งนักวิชาการได้สรุปไว้ว่า การโต้เถียงที่ดีนั้น (وجادلهم بالتي هي أحسن) คือ
-     การโต้ตอบที่ดี ให้ประโยชน์ รู้จักอดทนและอดกลั้น มีความอ่อนโยน และพร้อมยอมรับความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา
-     การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ทำให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย
-     การโต้เถียงที่ดีจะต้องรู้จักการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความไม่พอใจหรือเคียดแค้น
การศึกษาในปัจจุบันที่ได้เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ วิธีการสอนแบบอภิปราย เสวนา หรือการสัมมนาจึงเป็นวิธีการสอนอีกแบบหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะหื และหาข้อสรุปด้วยตัวเอง โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ให้คำปรึกษา 
การอภิปรายหรือการโต้แย้งจะต้องดำเนินด้วยการใช้คำพูดที่ดี ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ใช้สติปัญญาในการหาข้อมูลโต้แย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงและความถูกต้อง อัลลอฮฺทรงห้ามการใช้อารมณ์ในการตัดสินบางสิ่งบางอย่าง จนทำให้เกิดการปะทะคารม ส่งผลทำให้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกันจนเกิดเป็นศัตรูขึ้น เป้าหมายสำคัญในการสอนวิธีการร่วมอภิปรายหรือการโต้แย้งนี้ เพื่อฝึกให้ผู้เรียนเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี รู้จักการใช้สติปัญญาในการหาเหตุผลมาใช้ในการหาข้อเท็จจริง
ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในเทคนิคการสอนนี้คือการอภิปรายหรือโต้วาที การเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การพูดคุยด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน จุดประสงค์ของการใช้เทคนิคการสอนด้วยวิธีนี้เพื่อให้เกิดการใช้ความคิดเห็นในการค้นหาความจริง การใช้สติปัญญาในการใช้เหตุและผลในการตัดสินใจ การใช้คำพูดที่ดีที่ทำให้ผู้ร่วมสนทนาเกิดความพอใจและรู้สึกเป็นกัลยาณมิตร
สรุป
          การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญต่อมนุษย์ทุกคน เพราะการศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งด้านจิตพิสัย ปัญญาพิสัย และทักษะพิสัย การจัดการเรียนการสอนเป็นการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ที่ทุกองค์ประกอบจะต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และองค์ประกอบสำคัญที่นำกระบวนการเรียนรู้สำเร็จถึงเป้าหมายที่วางไว้คือ เทคนิคและวิธีการสอน เพราะเทคนิคและวิธีการสอนจะนำสู่เป้าหมายได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
          ซูเราะห์อัลนะฮ, อายะห์ที่ 125 ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การสอนไว้สามประการ คือ
1.     การสอนด้วยวิธีวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) คือการสอนที่ให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างเป็นสัจธรรม หายจากความเคลือบแคลง สงสัย ด้วยการใช้คำพูดที่สามารถสื่อถึงจิตใจของผู้ฟัง
2.     การสอนด้วยวิธีการตักเตือนที่ดี คือ การตักเตือนหรือการชี้แนะด้วยวาจาที่นุ่มนวล อ่อนโยน และเป็นแบบอย่างที่ดี
3.     การสอนโดยวิธีการโต้ตอบหรือการอภิปราย คือ การโต้ตอบและยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจ

อ้างอิง :
1.   Al-Qur’an tarjamah DEPAG
2.   Tafsir Ibnu Katsir
3.   Tafsir Al-Baghawi (  Maktabah Syamela )
4.   Kitab Al-hidayah Ila Bulughi al-Nihayah
5.   Zad Al-masir fi ‘Ilmi al-Tafsir
6.   Kamus al-Munawir