วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การลงโทษนักเรียน

                                                                               การลงโทษนักเรียน
ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เป็นเรืองที่ทุกคนทุกสาขาอาชีพ สถาบัน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจ เพราะเด็กเกี่ยวข้องกับทุกๆคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดาหรือไม่ก็ตาม เด็กมีส่วนสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของสังคม ดั่งที่ท่าน ศ.ดร.ฮัมกา นักวิชาการชาวอินโดนีเซียได้กล่าวไว้ว่า จะดูอนาคตของสังคมๆหนึ่งนั้น ก็จงดูเด็กในวันนี้เถิด เพราะในอนาคตเด็กๆเหล่านี้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้า หรือคำคมของอาหรับที่ว่า  เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า (شباب اليوم رجال غدا)
          เด็กเป็นหัวใจของสังคม หากสังคมได้ทุ่มเทให้ความสำคัญแก่เด็ก และเด็กได้รับการเลี้ยงดูอบรมที่ดีอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ก็เชื่อได้ว่าสังคมจะมีความมั่นคงและมีอนาคตที่รุ่งโรจน์ ในทางตรงกันข้าม หากเด็กถูกปล่อยปละละเลยหรือได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ความเสียหายล่มจมก็จะต้องเกิดขึ้นกับสังคมในอนาคต
                คำสอนของอิสลามที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานและอัลฮาดิษนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ได้แบ่งช่วงอายุต่างๆของเด็กไว้อย่างละเอียดอย่างที่นักวิชาการศึกษาเกี่ยวกับเด็กและนักจิตวิทยาปัจจุบันได้แบ่งเอาไว้ ส่วนการกล่าวถึงอายุบางช่วงของเด็ก เป็นการกล่าวไว้เพื่อประโยชน์ในการนำมาสู่การเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยเด็กและชี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของช่วงอายุนั้นๆดังที่ผู้เขียนจะได้นำมากล่าวไว้พอสังเขป
1.             วัยทารกในครรภ์มารดา เริ่มตั้งแต่การมีปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิของเพศชาย (บิดา) กบไข่ของเพศหญิง (มารดา) จนถึงกำหนดคลอดโดยประมาณ 9 เดือน
2.             วัยทารกดื่มน้ำนมมารดา ตั้งแต่แรกเกิด 2 หรือ 2 ปีครึ่ง
3.             วัยเด็กที่ต้อกำชับในเรื่องการนมาซและบัญญัติอิสลามอื่นๆ 7 10 ปี
4.             วัยเด็กที่ต้องมีการทำโทษ (เฆี่ยนตี) เมื่อละเลยหรือละเทมิดบัญญัติอิสลาม และต้องแยกที่นอนของเด็กๆ (ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศกัน)ออกจากกันเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป (อนัส แสงอารีย์, 2546:19 )
การลงโทษด้วยารตีนั้นควรเป็นวิธีสุดท้ายและใช้ให้น้อยครั้งที่สุด ไม่ควรทำกับลูกที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ ดังคำกล่าวของท่านรอซูลของอัลลอฮฺ ซบ. ไว้ว่า
مروا أولادكم بالصلاة لسبع واضربو هم عليها لعسر وفرقوا بينهم في المضاجع
                ความว่า พวกเจ้าจงใช้ให้ลูกหลานของเจ้าละหมาด เมื่อพวกเขาอายุเจ็ดขวบ และตีเขาเมื่ออายุสิบขวบ และจงแยกพวกเขาจากการนอนด้วยกัน(รายงานโดยอิหม่ามอัห์หมัดและอิหม่ามอาบูดาวูด) (อามีนะห์ ดำรงผล, 2546 : 18)
                จากการแบ่งช่วงอายุของบรรดานักวิชาการและในทัศนะของอิสลามดังกล่าว เราสังเกตเห็นได้ว่าเด็กที่มีอายุระหว่าง 7 10 ปี เป็นวัยที่ควรจะเรียนรู้หน้าที่ของมุสลิมและหัดปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจริงจัง ผู้ใหญ่ควรดูแลให้เด็กมีชุดละหมาดที่สะอาดอยู่เสมอ หัดให้ถือศิลอด หัดให้เด็กรู้จักการบริจาคทานเป็นต้น แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเสมอว่าเรื่องของการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของการนมาซและเรื่องอื่นๆนั้นต้องมีมาการออกคำสั่งบังคับเด็กให้ปฏิบัติในเรื่องนั้นๆด้วยวิธีการที่สอดคล้องและเหมาะสมกับวัยของเขา และวิธีการที่ดีที่สุดก่อนจะมีการบังคับ คือการสร้างแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้เห็นและปฏิบัติตาม
                ปัจจุบันเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไปพ่อแม่ก็จะพาเด็กไปเข้าเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ดังนั้นเมื่อเด็กอยู่ในการดูแลและการอบรมของครูที่โรงเรียนจึงจะเกิดปัญหาขึ้นมาว่าการที่ครูตีเด็กนั้นสมควรหรือไม่? การลงโทษเด็กด้วนการตีนั้น มีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เพื่อที่จะอบรมสั่งสอนเด็กในบ้านและโรงเรียน ศาสนาอิสลามได้ผ่อนปรนให้มีการตีภรรยาที่ดื้อรั้นและให้แยกที่นอน หากนางไม่เชื่อคำฟังคำตักเตือนที่ดี แต่ทว่าการตีนั้นจะต้องไม่ตีรุนแรงเกินไป และควรคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเพื่อลงโทษ
                สมัยก่อนท่านอุมัรอิบนุค็อฏฏอบได้รายงานว่า ได้มีเด็กชายคนหนึ่งเข้ามาหาท่าน และเด็กคนนั้นก็ได้แต่งผม และสวมเสื้อผ้าสวยงาม ท่านอุมัรได้ตีเด็กคนนั้นด้วยแซ่จนร้องไห้ นางฮับเสาะก็ได้ถามท่านว่า ท่านตีเขาทำไม ท่านอุมัรจึงตอบว่า เพราะการแต่งตัวเช่นนั้นมันทำให้เขาหยิ่งยโส ดังนั้นฉันจึงทำให้เขาถ่อมตัวลง (จากหนังสือประวัติศาสตร์คุลาฟะฮฺ ของท่านอิมามซูยูฏีย์) และบรรดาอามีรุ้ลมุมีนีนก็ได้อนุญาตให้ทำการอบรมเด็กๆและทำโทษด้วยการตีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และการตีนั้นก็ต้องเพื่อการอบรมสั่งสอน ไม่ใช่เพราะเหตุผลส่วนตัว
                ท่นอิมามอาลีกล่าวไว้ว่า
ادب صغار بيتك بلسانك على الصلاة والطهور, فإذ بلغوا عشر سنين فاضرب ولا تجاوز ثلاثا
                ความว่า เจ้าจงสั่งสอนให้ลูกๆของพวกเจ้าทำการละหมาดและรักษาความสะอาด หากลูกๆของเจ้าไม่ปฏิบัติตาม ในขณะที่อายุครบ 7 ขวบ เจ้าจงลงโทษ (ตี) แต่ไม่เกินสามที
ท่านอิบนุฮาญัร อัลไฮตามีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.974) กล่าวว่าการตีนักเรียนจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อน และจะต้องคาดหมายว่าการตีนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่หนักมือจนถึงขนาดเลือดตกยางออก แห่หากคาดว่าไม่มีประโยชน์ เว้นแต่จะต้องตีรุนแรงเท่านั้นก็ไม่เป็นที่อนุญาตโดยหลักอิจมาอฺของปวงปราชญ์ เพราะการลงโทษนั้น เป็นที่อนุญาตให้ทำได้ก็ต่อเมื่อคิดว่ามีประโยชน์ แต่หากการลงโทษที่นำไปสู่ภยันตรายถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสก็ไม่เป็นที่อนุญาต
ได้มีคนถามชีคอัลดุลอาซิซบินบาซ(เราะฮิมะฮุลลอฮฺ)ว่า ..
            บัญญัติ(ฮุกุม)การตีเด็กนักเรียนเพื่อการเรียนการสอน และให้เขาเน้นถึงแบบฝึกหัดและการบ้านที่ให้แก่เขาและเพื่อนเขาไม่ละเลยในแบบฝึกหัดนั้นเป็นเช่นใด?  :
           ท่านชีคอัลดุลอาซิซบินบาซ(เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) ได้ตอบว่า การตีในลักษณะนี้ไม่ถือว่ามีความผิดอะไร  ครูไม่ว่าชายหรือหญิงและบิดามารดา ทุกคนจะต้องดูแลเด็กๆ และอบรมสั่งสอนเด็กๆให้ห่างจากพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และกระทำในพฤติกรรมที่ดีที่พึ่งประสงค์(ศอลิฮฺ) เด็กไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ให้ตีเมื่อเขาไม่ละหมาดและมีอายุครบสิบปีแล้ว เป็นการสั่งสอนให้เขามั่นคงในการละหมาด หรืองานอื่นๆที่เขาควรกระทำ อย่างการเรียนหรืองานบ้าน ผู้ปกครองของเด็กชายหรือเด็กหญิงจะต้องอบรมสั่งสอนเขา ถ้าต้องตีก็ให้ตีอย่างเบาๆไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆแก่เขา เพื่อให้เขาปฏิบัติตนตามที่คาดหวังไว้ (ฟาตาวา ชีคบินบาซ เล่มที่ 6 หน้า 403 )
สิ่งที่ครูควรระวัง คือ ในการตีเด็กแต่ละครั้งควรจะนับจำนวนที่ตีด้วย โดยการตีไม่ควรเกินสิบทีหรือสิบไม้ เว้นแต่ในกรณีการลงเทศทางอาญา(ฮุดูด) ท่านอิบนุก็อยยิม-เราะฮิมาฮุลลอฮฺ-ได้กล่าวว่า ..
การที่ท่านนบี (ศ็อล) ได้กล่าวว่า
لا يضرب فوق عشرة أسواط إلا فى حد من حدود الله
ความว่า อย่าลงโทษเกินกว่าตีสิบไม้ เว้นแต่ในเรื่องที่อัลลอฮฺได้กำหนด
มีคนถามว่า ตีสิบครั้งตรงไหน(เรื่องอะไร) และที่ไม่ใช่คือเรื่องอะไร
บางคนตอบว่า ผู้ชายตีภรรยาของตน บ่าวทาส ลูก หรือลูกจ้าง เพื่อเป็นการสั่งสอน จะตีเกินกว่าสิบไม้ไม่ได้ และนี้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่ฮาดิษได้กำหนดมา
จริงแล้วการตี(หรือการลงโทษ)ไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะกระตุ้นให้เด็กขยันในการอ่านหนังสือ ครูควรจะผสมผสานกันระหว่างวิธีการเสริมแรงและการลงโทษเพื่อให้ได้สิ่งที่พึงประสงค์ เช่น ชมเชยนักเรียนเรียนดีและสนับสนุนเขาด้วยการให้รางวัลหรือให้คะแนนที่สูง ส่วนนักเรียนที่ยังไม่เป็นตามที่พึงประสงค์ให้ลงโทษเขาด้วยการให้คะแนนน้อยกว่าที่คนทำดี และพูดว่ากล่าวเป็นการคาดโทษ เป็นต้น
 ครูจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กนักเรียนไม่ใช่ทำไปเพื่อการลงโทษเท่านั้น ท่านนบี (ศ็อล)ได้เน้นในตลอดชีวิตของการเป็นนบีของท่านด้วยการอบรมสั่งสอน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆและเยาวชน เพราะเด็กและเยาวชนคือผู้ที่จะอยู่ในสังคมผู้ใหญ่ต่อไป พวกเขาคือผู้เลือกแนวทางในสังคมให้เป็นไปอย่างสงบสุขหรือความปั่นป่วน ในฮาดิษไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการกระทำของท่าน มีหลายบทหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษานี้มาก อย่างเช่นมีฮาดิษหนึ่งว่า
طلب العلم فريضة لكل مسلم
การศึกษาหาความรู้นั้น เป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องศึกษา โดยเฉพาะวิชาความรู้ที่เป็นพื้นฐานของชีวิต (ฟัรฎูอีน) ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางด้านศาสนาหรือการศึกษาด้านวิชาการสามัญหรือการศึกษาประสบการณ์ชีวิตด้านอื่นๆ
นอกจากตัวบุคคลเองแล้วที่เป็นผู้ต้องศึกษา ผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย โดยจะต้องจัดการศึกษาให้แก่ทุกคนอย่างพอเพียงกับความต้องการของสังคม ท่านนบี ศ็อลฯ ได้สั่งให้แก่พ่อแม่ของเด็กว่า
أحسنوا أدبهم أكرموا أولادكم  ( رواه أحسنوا أدبهم أكرموا أولادكم  ( رواه ابن ماجه )
          ความว่า พวกเจ้าจงให้เกียรติลูกๆของพวกเจ้า และจงให้การอบรมสั่งสอนที่ดี
                เป็นเรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่หรือครูผู้สอนที่จะใช้วินัยพร้อมกับการใช้ปัญญาในการสั่งสอนเด็ก ไม่ตำหนิหรือลงโทษอยู่ตลอดเวลา โดยการชมเชยยกย่องเด็กแทนการดุด่าถือโทษตลอดเวลา เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีการยกย่องชมเชยจะเติบโตอย่างมีความสุขสร้างสรรค์และเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่าเด็กที่ถูกตำหนิอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่หรือครูควรควบคุมอารมณ์เมื่อโกรธเด็ก และควรสอนให้เด็กควบคุมอารมณ์เช่นกัน คนเราสามารถเกิดอารมณ์โกรธได้ง่ายแม้แต่เรื่องเล็กน้อยๆ อย่างไรก็ตาม การยับยั้งความโกรธเป็นเรื่องของความเข้มแข็งและการควบคุมตนเอง นอกจากนี้ หากจะลงโทษเด็กทางร่างกาย ก็ควรกระทำด้วยความนุ่มนวล ท่านศาสดามูฮัมหมัด ศ็อลฯ ห้ามไม่ให้ตบหน้าผู้อื่นและหากจำเป็นก็ควรใช้วิธีตีก้นเป็นวิธีสุดท้ายแต่ต้องไม่สร้างความเสียหายใดๆ (ฟารามาซ, 2541 : 56)

                บทสรุปทางการศึกษา
1.             การลงโทษนักเรียนนั้นครูผู้สอนสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล      
2.             การลงโทษนักเรียนด้วยการตี จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง หรือครูผู้สอนได้ทำความเข้าใจและตกลงกับผู้ปกครองนักเรียน ไม่ใช่ทำไปโดยพละการหรือตามอารมณ์ของตนเอง
3.             การลงโทษด้วยการตี เป็นวิธีสุดท้าย ดังนั้นครูผู้สอนควรหาวิธีการลงโทษแบบอื่นโดยการใช้เทคนิคการเสริมแรงและการถอดถอนในสิ่งที่พึงพอใจ
4.             การตีไม่ควรเกินกว่าสามที โดยที่นักเรียนต้องไม่ได้รับอันตรายใดๆ


หนังสืออ้างอิง

ฟารามาซ บิน มุฮัมมัด เราะห์บัร (ปาริตฉัตต์ ผู้แปล), 2541, เลี้ยงลูกให้ถูกทางตามคำสอนของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ, กรุงเทพ:นัทชา พับลิชชิ่ง
สากีนะห์ บอสู , 2543, คุณธรรมของลูก, กรุงเทพ: มุสลิมนิวส์
อามีนะห์ ดำรงผล,2546, เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีแบบอิสลาม, กรุงเทพมหานคร : เอดีสันเพรสโพรดักส์
อนัส  แสงอารีย์, 2546, เด็กในทัศนะอิสลาม, กรุงเทพมหานคร: ศูรนย์ภาษาธรรม
 a.Mohm Azwar, 2006, Petua Membentuk Anak Pintar dan Kreatif, Kuala Lumpor: Jasmin Enterprice

การเขียนสรุปความ

การเขียนนั้นสำคัญไฉน

                สำนวนมลายูได้กล่าวไว้ว่า ภาษาเป็นหัวใจของชาติ หากไร้ซึ่งภาษาแล้ว ชาติก็จะสูญหายไปด้วย (Bahasa Jiwa Bangsa Hilang Bahasa Hilanglah Bangsa) ภาษามลายูเป็นมรดกทางปัญญาที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและอารยธรรมของสังคมมลายูในอดีต เป็นภาษาที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชนชาวมุสลิมในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
                ภาษามลายูมีความสำคัญในหลายๆด้าน เช่น ด้านการถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรม ด้านการสื่อสารในชุมชน และด้านการศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะการใช้ภาษาเป็นสื่อในการศึกษา จะช่วยให้การปฏิสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันในสังคมเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฉะนั้นความสามารถในการใช้ภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                กระบวนการเรียนการสอนในกลุ่มสาระภาษานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ครูผู้สอนจะต้องคำนึงถึง 4 ทักษะด้วยกัน คือ ทักษะการอ่าน การพูด การเขียน และการฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเขียนนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุด การที่เราจะสร้างให้นักเรียนมีความสามารถในการเขียนที่ดีนั้น ครูผู้สอนจะต้องใช้เทคนิคและรูปแบบการสอนที่เหมาะสมและมีความหลากหลาย เพราะการเขียนเป็นทักษะในการสื่อสารที่สำคัญเพื่อการแสดงความรู้ ความคิด และความต้องการของผู้ส่งสารออกเป็นลายลักษณ์อักษร
                ทักษะการเขียนนับเป็นทักษะที่เป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ กล่าวคือ การเขียนต้องใช้ภาษาที่งดงามประณีต สามารถสื่อได้ทั้งอารมณ์ ความรู้ ความคิด จึงต้องใช้ศิลปะในการเขียน ส่วนที่กล่าวว่าศาสตร์เพราะการเขียนทุกชนิดต้องประกอบด้วยความรู้ หลักการและวิธีการ แต่อย่างไรก็ตามการเขียนก็สามารถฝึกฝนและเรียนรู้ได้ ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนนั้นผู้สอนจึงจำเป็นจะต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการสอน เพราะการศึกษาที่จะประสบผลสำเร็จที่ดี ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในรายวิชาที่ตนเองสอน เข้าถึงแก่นของความรู้ มีเทคนิคกลวิธีการสอนทีมีหลากหลาย เหมาะสมกับเนื้อหาและการพัฒนาการของผู้เรียน และสามารถปรับเปลี่ยนเทคนิคและรูปแบบการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ และมีความรู้ความเข้าใจในจิตวิทยาพัฒนาการการศึกษา ครูผู้สอนสามารถนำสื่อต่างๆมาประกอบการเรียนการสอนให้เหมาะกับเนื้อหาและความแตกต่างของผู้เรียน เพื่อให้กระบวนการเรียนการสอนสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของหลักสูตรอิสลามศึกษาที่ได้กำหนดไว้และเป้าหมายของการศึกษาแห่งชาติที่กำหนดไว้คือ เก่ง ดี และมีสุข กระบวนการเรียนการสอนจะต้องเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนจะมีบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่นักเรียน ส่วนนักเรียนจะต้องลงมือปฏิบัติและฝึกฝนด้วยตัวเองจนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ ทำให้นักเรียนมีความตระหนักและมีเจตคติที่ดีต่อวิชาความรู้ที่นักเรียนได้เรียน
                ดังนั้น บทความปริทัศน์นี้ได้นำเสนอข้อความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเขียนโดยการใช้วรรณกรรมเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อจัดการศึกษาภาษามลายูกลางในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ใน 2 ประเด็นด้วยกัน ประกอบด้วย
1.       ความสำคัญของการเขียนและการเขียนสรุปความ
2.       การใช้วรรณกรรมประกอบการเรียนการสอน

1. ความสำคัญของการเขียน
ด้วยสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน การสื่อสารทางเทคโนโลยี่ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการศึกษา ครูผู้สอนและนักเรียนต่างก็ใช้เทคโนโลยี่มาเป็นตัวช่วยในการเรียนการสอน จนทำให้กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการอ่านจากหนังสือหรือสิ่งตีพิมพ์มีจำนวนน้อยลง อันเห็นได้จากผลสำรวจหรืองานวิจัยที่ได้สรุปไว้ว่าคนไทยอ่านโดยเฉลี่ยแล้วอ่านหนังสือไม่ถึงหนึ่งเล่มต่อปี ปัญหาเช่นนี้ทำให้นักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ขาดความตระหนักและความเอาใจใส่ต่อการอ่านและการเขียน ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรให้คำปรึกษาและคำแนะนำที่ดีแก่นักเรียนเพื่อให้นักเรียนรู้จักใช้เทคโนโลยี่มาเป็นตัวช่วยในการศึกษาหาความรู้
การเขียนเป็นทักษะที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการศึกษา การทำงาน และติดต่อสื่อสารทั่วไป อันเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาเพื่อสื่อความหมายไปยังผู้รับสาร การสื่อสารถ้าผู้ส่งสารและผู้รับสารไม่เข้าใจตรงกันนั้น ก็อาจเกิดความเข้าใจผิดและรู้สึกความไม่ดีต่อกัน
การเขียนเป็นทักษะการใช้ภาษาที่สำคัญมากในสังคมยุคปัจจุบันนี้ เพราะสามารถบันทึกเรื่องราววิชาความรู้ได้ในวงกว้างและยาวนานกว่าภาษาพูด รวมทั้งช่วยสืบทอดวัฒนธรรมด้านสติปัญญาทางความรู้ความคิดต่างๆ ไว้ได้อย่างยั่งยืนจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ การเขียนเป็นการบันทึกลายลักษณ์ที่สามารถเก็บไว้ได้นานกว่ากระบวนการใดๆ การพัฒนาทักษะการเขียนจึงต้องเริ่มต้นอย่างจริงจังและกระทำการอย่างต่อเนื่อง ทักษะการเขียนจะต้องดำเนินการโดยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและต้องใช้เวลาฝึกนานพอสมควรจึงจะเกิดความชำนาญ ในการฝึกการเขียนนั้นจะต้องฝึกให้ถูกวิธีและถูกหลักเกณฑ์ ต้องสะกดคำให้ถูก เรียบเรียงถ้อยคำให้สื่อความหมายได้ชัดเจนและรู้จักการแบ่งวรรคตอนให้ถูกต้อง และจะต้องรู้จักเทคนิคเฉพาะในการเขียนเรื่องประเภทต่างๆ ทั้งในแง่วัตถุประสงค์และเทคนิคการเขียน รู้จักแสดงออกโดยเขียนเรียบเรียงความรู้และความรู้สึกนึกคิดออกมาอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตรงตามที่ต้องการ
การเขียนเป็นการใช้ภาษา ซึ่งต้องอาศัยการสั่งสมความรู้ความคิดจากการอ่านและฟัง ถ้าฟังมากอ่านมากจะทำให้ผู้เขียนมีความรู้ เกิดความคิดกว้างไกล สามารถนำไปใช้ในการเขียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นการเขียนเป็นหลักฐานที่ผู้อื่นสามารถอ่านและนำไปอ้างอิงได้ ดังนั้นจึงควรเขียนด้วยความระมัดระวังและต้องรู้จักการสรรหาถ้อยคำมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะงานเขียนมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อ ทำให้ผู้อ่านพัฒนาความรู้ความคิดและอารมณ์ จะต้องให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ให้ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีงามแก่ผู้อ่านอย่างมีเหตุมีผลและให้ผู้อ่านมีพัฒนาการทางอารมณ์และความรู้สึกไปในทางที่ดี งานเขียนที่ดีจะต้องคำนึงถึงระดับความรู้ ความคิด และสติปัญญาของผู้อ่าน ผู้เขียนจึงควรระมัดระวังเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษา การเสนอความรู้และความคิดที่ผู้อ่านอาจไม่มีพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ
ระเบียบหรือวิธีการที่ใช้ในการเขียน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องศึกษา เพื่อจะได้ฝึกฝนให้สามารถคิดและเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเขียนที่ดีจะช่วยพัฒนาทักษะการเขียนนั้น ผู้เขียนต้องคำนึงถึงกระบวนการเขียนต่อไปนี้ คือ
1.1 การคิด
ไม่ว่าผู้เขียนจะเขียนเรื่องใดก็ตาม สิ่งแรกก็คือเรื่องของความคิดซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก่อนลงมือเขียนเรื่องใดจำเป็นต้องคิดเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้งเสียก่อน เมื่อคิดได้จึงเลือกใช้ถ้อยคำตามความหมายที่ต้องการ ดั่งที่ปรีชา ขวัญยืน ได้กล่าวถึงกระบวนการเขียนไว้ว่า การคิด คือการคิดให้เข้าจุด คิดให้อยู่ในวงจำกัด คิดถึงจุดประสงค์ที่สำคัญจุดเดียว ซึ่งการจะคิดให้เข้าจุดนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ คิดในสิ่งที่รู้ คิดในหัวข้อที่จำกัด และทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดหลักอย่างกระจ่างชัด นอกจากนั้นผู้เขียนจะต้องจัดระเบียบความคิดเพื่อไม่ให้การเขียนวกวนสับสน โดยจัดระเบียบความคิด 3 ลักษณะ คือ การจัดลำดับเรื่องราว หมายถึงการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นภายหลัง การจัดลำดับสถานที่ คือการเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ตามความจริงไม่วกไปวนมา เพื่อให้ผู้อ่านนึกตามไปเป็นขั้นตอน และการจัดลำดับตามเหตุผล คือ การเขียนโดยใช้เหตุและผล เมื่อมีเหตุแล้วต้องมีผลตามมา หรือเมื่อนึกถึงผลทำให้โยงไปถึงเหตุได้ เช่น เพราะเหตุใดยาเสพติดจึงเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน และที่สำคัญการเขียนจะต้องมีความกระชับในเรื่องที่คิด คือการเขียนเรื่องที่จะต้องมีความคิดหลักที่ชัดเจนเพียงความคิดเดียว เพื่อให้ผู้อ่านสามารถจับประเด็นได้ว่าผู้เขียนต้องการเสนอความคิดอะไร ถ้าผู้อ่านสามารถสรุปความคิดออกมาได้ชัดเจน แสดงว่าเรื่องนั้นมีความกระชับในเรื่องที่คิด โดยผู้อ่านสามารถสื่อได้ตรงกับความคิดของผู้เขียน
ดังนั้นการเริ่มต้นของการเขียนที่ดีจึงต้องต้นเริ่มด้วยการวางกรอบแนวคิดหรือโครงสร้างที่เราจะเขียนอันเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวที่เราจะต้องพยายามรังสรรค์ข้อความให้บรรลุถึงกรอบแนวคิดที่เราได้วางไว้ การคิดดังกล่าวผู้เขียนจะต้องตอบคำถามต่างๆ อันจะช่วยให้เราสามารถเรียนเรียงถ้อยคำได้ถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น เช่นใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไรเป็นต้น
เพ็ญศรี จันทร์ดวง (2546:142) ได้กล่าวถึงกระบวนการเขียนที่ดีว่า ผู้เขียนต้องมีความสามารถในเลือกใช้คำที่สื่อความหมายได้แจ่มแจ้ง ใช้ถ้อยคำกะทัดรัด เหมาะสมแก่ระดับของผู้อ่าน และรูปแบบการเขียน เขียนตัวอักษรให้อ่านง่าย ให้มีขนาดพอเหมาะกับกระดาษ เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน เขียนถูกต้องตามอักขระวิธี คำนึงถึงการสะกดคำ การวางรูปสระ รูปวรรณยุกต์ และเครื่องหมายต่างๆให้ถูกที่ แต่งประโยคที่มีใจความสมบูรณ์ แล้วลำดับประโยค ลำดับความเข้าใจง่าย ไม่วกวน ไม่ก่อให้เกิดความงุนงงสงสัย เว้นวรรค ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสารได้ง่าย และขึ้นย่อหน้าใหม่เมื่อมีความคิดเสนอเป็นตอนใหม่ ให้มีความสัมพันธ์กับย่อหน้าที่มาก่อน
ความสำเร็จในการเขียนเกิดจากความชำนาญทำทีละขั้นๆ ไม่ควรทำทีเดียวจบ เขียนคราวทีละน้อยๆไปก่อนโดยต้องสร้างนิสัยที่สำคัญอย่างหนึ่งให้ได้เสียก่อนคือนิสัยรักการอ่านและการเขียน การใช้ภาษาที่เหมาะสมและถูกต้อง การเขียนที่ดีต้องใช้เวลาและการฝึกฝนให้มากพอจึงจะเกิดทักษะที่ดี เพราะการเขียนคือศาสตร์และศิลป์ที่เราทุกคนสามารถฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้เป็นนักเขียนที่ดีและรู้คุณค่าของภาษาที่เป็นวัฒนธรรมของชาติ
1.2 การตั้งจุดมุ่งหมายของการเขียน
การตั้งจุดมุ่งหมายของการเขียนนั้น ผู้เขียนจะกำหนดว่าตนต้องการเขียนเพื่ออะไร เป็นการช่วยให้การเขียนอยู่ในขอบเขตและง่ายต่อการเขียน ซึ่งมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะมีกลวิธีการเขียนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเจตนาหรือความต้องการของผู้เขียนที่จะเสนอเรื่องประเภทใด อย่างไร ซึ่งจุดหมายในการเขียนนั้น เช่น เพื่อจดบันทึกจากการฟังและการอ่าน เพื่อแสดงความคิดเห็น แนะนำสั่งสอน เพื่ออธิบายให้เกิดความรู้ความเข้าใจ หรือเพื่อสร้างจินตนาการให้เกิดความบันเทิงใจ เป็นต้น
การเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกไปยังผู้อ่าน อย่างน้อยการเขียนทุกชนิดจะต้องมีจุดมุ่งหมายในการเขียน พร้อมทั้งยังใช้ภาษาที่ถูกต้องอีกด้วย การเขียนสรุปความจึงเป็นการเขียนที่มีจุดหมาย เพื่อย่อความให้กระชับรัดกุม ดังที่จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ (2548:222) ได้กล่าวถึงการเขียนสรุปความว่า การเขียนสรุปความเป็นทักษะการเขียนที่สืบเนื่องและสัมพันธ์กับการอ่านจับใจความ กล่าวคือเป็นการสื่อสารที่ผู้เขียนต้องแสดงทั้งสมรรถภาพในการอ่านจับใจความให้ถูกต้อง ตรงประเด็น และสามารถเรียนเรียงภาษาเขียน สรุปประเด็นถูกต้อง ชัดเจน ต่อเนื่อง สละสลวยเป็นภาษาเขียนที่ดีด้วย
ความสามารถในการเขียนสรุปความมีความสำคัญต่อบุคคลโดยทั่วไปและนักเรียนทุกระดับชั้น เพราะการที่ได้ยินและฟังเรื่องราวใดๆต้องมีการสรุปความเพื่อความเข้าใจของตนเอง และใช้ในการสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นในการเขียนสรุปความนั้นผู้เขียนจะต้องมีความประณีตในการเรียงร้อยถ้อยคำ ซึ่งขั้นตอนในการเขียนสรุปความให้เกิดความชำนาญนั้น ผู้เขียนจะต้องฝึกฝนตนเองตามขั้นตอนดังนี้ คือ ขั้นแรก เป็นการพิจารณาสารว่ามีเนื้อหาอย่างไร รูปแบบของสารเป็นอะไร ขั้นที่สอง เป็นขั้นการย่อเนื้อหาของเรื่องจากเรื่องทั้งหมด ให้เหลือประมาณหนึ่งในสาม พร้อมทั้งคิดตั้งชื่อเรื่องคือ ต้องเป็นความคิดรวบยอดของเรื่องนั้น ขั้นที่สาม เป็นการสรุปเรื่องสั้นให้กะทัดรัด โดยหาข้อความหรือคำมาทดแทนประโยคหรือข้อความยาวๆ ให้เหลือข้อความสั้นๆ และปรับปรุงถ้อยคำและชื่อเรื่องให้กะชัดรัดกุมกว่าเดิมและถือว่าเป็นขั้นสรุปความแล้ว และขั้นสุดท้าย เป็นขั้นสรุปรวบยอดของเรื่องราวทั้งหมดให้เหลือเฉพาะใจความสำคัญจริงๆ หรือให้เหลือประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียว ขั้นนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญและเป็นขั้นตอนทีสำคัญที่ยากที่สุด (ไพรถ เลิศพิริยกมล,2544:55) ดังนั้นในการเขียนสรุปความนั้นต้องเริ่มจากการฟังและอ่าน เพื่อให้รู้เรื่องราวพอสังเขป เก็บข้อความที่สำคัญให้ครบถ้วน นำมาเรียบเรียงให้ได้ใจความสละสลวยเป็นสำนวนของผู้สรุปเองโดยใจความสำคัญที่สรุปไว้นั้นต้องสั้น กะทัดรัด อ่านแล้วเข้าใจทันที
จุดมุ่งหมายของการเขียนต่างๆ นั้นผู้เขียนจะต้องเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นที่ดึงดูดใจ และความสนใจของผู้อ่าน การตั้งจุดมุ่งหมายที่ดีจะช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกมีอารมณ์ร่วมในขณะที่อ่านและจะติดตามอ่านตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความสนใจ กระบวนการฝึกทักษะการเขียนที่เป็นแบบฝึกให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการเขียนก็คือการเขียนสรุปความจากวรรณกรรมต่างๆที่นักเรียนได้อ่าน เพราะวรรณกรรมจะเรื่องราวที่น่าสนใจและสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสำหรับการค้นคว้า การพัฒนาทักษะการอ่านและเขียนของนักเรียนควบคู่ไปด้วย การเขียนสรุปความจึงมีประโยชน์ในด้านการใช้เครื่องมือในการศึกษาหาความรู้ ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผล ประเมินผล ช่วยให้การเรียนรู้มีความหมาย ช่วยพัฒนาทักษะการอ่าน และการเขียนให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการฝึกทักษะด้านการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ควบคู่กันไป ซึ่งเป็นการฝึกให้เกิดดุลยภาพทางสมองอีกด้วย

2. การใช้วรรณกรรมประกอบการเรียนการสอน
วรรณกรรมเป็นสื่อช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียนให้กว้างขวาง ฉลาดรอบรู้ เสริมสร้างจินตนาการ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ วรรณกรรมจึงเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ดีสำหรับการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของนักเรียน การอ่านวรรณกรรมนั้นนอกจากการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถทางสติปัญญาแล้ว ยังทำให้นักเรียนเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยเฉพาะนักเรียนในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา
วรรณกรรม (อังกฤษ: Literature) หมายถึง วรรณคดีหรือศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการโดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งวรรณกรรมเป็น 2 ประเภท คือ วรรณกรรมลายลักษณ์ คือวรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ และวรรณกรรมมุขปาฐะ อันได้แก่วรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก ไม่ได้จดบันทึกด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้าง ถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคม เป็นต้น
วรรณกรรมเป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารเรื่องราวให้เข้าใจระหว่างมนุษย์ ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้น และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมาย เรื่องราวต่าง ๆ ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารได้แก่ ภาษาพูด โดยการใช้เสียง ภาษาเขียน โดยการใช้ตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์ หรือภาพ และภาษาท่าทาง โดยการใช้กิริยาท่าทาง หรือประกอบวัสดุอย่างอื่น
ผาสุก มุทธเมธา (2527:4) ได้อธิบายถึงความหมายของวรรณกรรมไว้ว่า วรรณกรรมหมายถึงงานเขียนทุกรูปแบบ ไม่จำกัดคุณสมบัติในทางศิลปะหรือศิลปะแห่งการเรียบเรียง ฉะนั้น วรรณกรรมจึงมีความหมายกว้างมาก รวมงานทุกอย่างที่เป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง กวีนิพนธ์ และร้อยแก้วในรูปแบบของบทความ สารคดี นวนิยาย เรื่องสั้น เรียงความ บทละคร ตลอดจนงานเขียนในคอลัมน์ต่างๆของหนังสือพิมพ์
วรรณกรรมจึงเป็นสื่อการเรียนการสอนอย่างหนึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนรู้มากขึ้น ดั่งที่เกสรี ลัดเลีย (2552:1) ได้กล่าวว่า ความหมายของวรรณกรรมแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเด็กกับการเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม นั่นคือ ความสำคัญของวรรณกรรมในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนสำหรับเด็ก และในปัจจุบันนักการศึกษาได้นำเอาทฤษฎีการสอนแบบธรรมชาติ (whole language) ที่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบการเรียนรู้ภาษาในทุกด้านแบบองค์รวม (holistic) โดยไม่แยกการเรียนรู้ภาษาเป็นทักษะเดี่ยวๆ มาเป็นทฤษฎีพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการสอนภาษาโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายคือ การพัฒนาทักษะด้านภาษาของผู้เรียนให้สูงสุดตามศักยภาพ
การเลือกวรรณกรรมเพื่อนำมาทำกิจกรรมในการพัฒนาทักษะการเขียนนั้นมีความสำคัญมาก เพราะสื่อการอ่านของเด็กในปัจจุบันมีมากมาย โดยเฉพาะสื่อทางอินเตอร์เน็ต จนกระทั่งอ่านทั้งวันหรือดูทั้งวันก็ไม่หมด สื่อมีทั้งดีและไม่ดี เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน สื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อเด็กมาก ทั้งในความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ทำให้เด็กคล้อยตามไปได้ง่ายๆและปฏิบัติด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นการเลือกวรรณกรรมเพื่อนำมาทำกิจกรรมพัฒนาการเขียนสรุปความนั้น จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้ซึมซับสิ่งดีๆ มาให้เด็ก สร้างรสนิยมในการอ่านการเขียนทีดีให้กับเด็ก และปลูกฝังความคิดที่ดีที่ได้จากการอ่าน จึงเปรียบเสมือนการสร้างเกราะป้องกันตัวให้กับเด็กจะช่วยให้เขาสามารถแยกแยะสื่อที่ดีกับสื่อที่ไม่ดีด้วยตัวของเขาเอง
การสอนให้นักเรียนมีทักษะการเขียนที่ถูกต้องโดยการใช้วรรณกรรมประกอบการเรียนการสอนจะช่วยนักเรียนเห็นคุณค่าของภาษาและความสำคัญของเรื่องราวต่างที่เป็นเรื่องเล่าตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นหรือเรื่องเล่าทางศาสนาอันมีคุณค่าในการพัฒนาจิตใจ เพราะวรรณกรรมบางเรื่องจะมีคติสอนใจและหลักธรรมคำสอนที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้ การเขียนจะช่วยให้นักเรียนมีความตระหนักเพิ่มขึ้น เพราะก่อนที่นักเรียนจะลงมือเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆตามทัศนของตนเองจะต้องผ่านการอ่านและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนจึงสามารถนำมาสรุปเป็นถ้อยคำสำนวนของตัวเองได้อย่างถูกต้อง
กระบวนการพัฒนาทักษะการเขียนสรุปความภาษามลายูโดยใช้วรรณกรรมเป็นสื่อการเรียนการสอนจะช่วยให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถถ่ายทอดความคิดความอ่านที่ได้รับจากเนื้อหาที่นักเรียนอ่านมาเขียนสรุปความได้อย่างถูกต้อง และนักเรียนยังสามารถนำแนวคิดหลักธรรมคำสอนจากอัตชีวประวัติหรือวรรณกรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
                จากความสำคัญของการเขียนและวิธีการเขียนดังกล่าวนั้นจึงสรุปได้ว่า การพัฒนาทักษะการเรียนการสอนด้านภาษา โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการเขียนสรุปความ ผู้สอนจะต้องมีเทคนิคการเรียนการสอนที่หลากหลาย สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพและความรู้ที่ตนเองมีอยู่ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสื่อที่จะเป็นสิ่งเร้าให้ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียนรู้ทางภาษา คือวรรณกรรมและเรื่องราวต่างๆ ทั้งวรรณกรรมเกี่ยวกับอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญหรือนวนิยายเรื่องสั้นที่ช่วยผู้เรียนมีความสนใจในภาษามากขึ้น การเขียนสรุปความจากวรรณกรรมจึงเป็นวิธีการหนึ่งในหลายวิธีที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาทักษะการเขียนสรุปความได้ เพราะวรรณกรรมจะเป็นสิ่งเร้าและแรงดึงดูดใจให้นักเรียนให้ความสนใจในการอ่านและเขียน การพัฒนาทักษะการเขียนสรุปความจำเป็นจะต้องฝึกฝนอย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง จนทำให้เกิดความชำนาญ ทักษะการเขียนจึงต้องใช้ทักษะความสามารถทางการอ่านควบคู่ไปด้วย เพราะการอ่านเปรียบเสมือนกุญแจที่จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในวิชาการต่างๆ ดังนั้นการนำวรรณกรรมมาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนครูผู้สอนจะต้องเลือกวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเหมาะกับจิตวิทยาพัฒนาการของนักเรียนด้วยจะทำให้การเรียนการสอนสามารถบรรลุผลที่วางไว้ได้ง่ายขึ้น 


อ้างอิง

เกสรี ลัดเลีย, 2554, การใช้วรรณกรรมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้, คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ฉวีวรรณ คูหาภินันท์, 2545, วรรณกรรมสำหรับเด็ก, บริษัทบูรพาสาร(1991) จำกัด, กรุงเทพมหานคร
ส.ศิวรักษ์, ............., ศิลปะแห่งการเขียน, ยูโรปาเพรส บริษัทจำกัด, กรุงเทพมหานคร
พริ้มเพราวดี หันตรา, 2541,ทักษะทางภาษา นานาวิธี,โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว กรุงเทพ,79
วรมน ลิ้มมณีและคณะ, 2544, ภาษาไทยเพื่อการสืบสารและสืบค้น, สถาบันราชภัฏสวนดุสิต, กรุงเทพมหานคร

รักแท้คู่ศรัทธา

รักแท้คู่ศรัทธา -

"อัสลามูอาลัยกุม" ฉันกรอกเสียงลงในโทรศัพท์ด้วยเสียงที่หมดแรงเต็มที่

"วาอาลัยกุมมุสลามวาเราะฮมาตุลลอฮ" เสียงเขาตอบออกมาอย่างแผ่วเบาไม่แพ้กัน

"ไม่สบายอีกแล้วหรอ" อีกแล้วเสียงที่แสดงความห่วงใยอีกแล้วช่างห่วงใยจริง ๆ เลยผู้ชายคนนี้

"อืม" ฉันตอบออกไปสั้น ๆ

"กินข้าวแล้วยัง" ประโยคเดิมๆ ที่เขาถามทุกวันและเป็นประโยคเดิมๆ ที่เมื่อก่อนมักทำให้ฉันแอบยิ้มเสมอ

"อืม" เป็นอีกครั้งที่พูดแค่นี้แต่ฉันแอบยิ้มคนเดียว เขาสงสัยแน่เลย ทำไมฉันพูดน้อย

"วันนี้บังลงพื้นที่มาเจอเด็ก ๆเยอะเลย เหนื่อยจัง" เขาเริ่มพูดในสิ่งที่ฉันมักกระตือรือร้นเสมอ ฉันชอบฟังในเรื่องที่เขาเล่า "อืม"

คำเดิม แต่ความรู้สึกของฉันไม่เหมือนเดิมหวั่นไหวมากขึ้น

……………………………………………………………………………………..

"ไม่สบายอีกแล้วหรอ โดนแดดอีกละซี บอกแล้วว่าให้ระวัง ไม่ไหวเลยนะ ดูแลคนอื่นดีนักเชียวแต่ไม่รู้จักดูแลตัวเอง แล้วข้าวนี้ยังไม่กินใช่ไหม ไม่ไหวเลยนะแบบนี้"

เมื่อไรจะหยุดพูดซักทีนะ ฉันกำลังจะแพ้อีกแล้ว....

"แค่นี้ก่อนแล้วกัน คลื่นไส้"

ฉันรีบพูดออกไป เพราะอาการผะอืดผะอมที่เป็นตั้งแต่เมื่อเช้าเริ่มกลับมาอีกครั้งและมันจะเป็นแบบนี้เสมอ เมื่อฉันเครียด

"อย่าวางสายนะ บังเป็นห่วง"

ฉันได้ยินเสียงเขาตะโกนออกมา ก่อนที่ฉันจะอาเจียนจนหมดแรง และทุกอย่างกลายเป็นสีดำไปหมดในความรู้สึกฉัน

"เป็นไงบ้าง! รู้ไหม ตอนที่เธอเป็นลมไป บังเขาโทรตามพวกฉัน ตามยาม แล้วก็ตามเธอมาที่โรงพยาบาลนี่แหละ"

เพื่อนฉันรีบบอก ทันทีที่ฉันลืมตาขึ้น หลังจากที่ฉันฟื้นขึ้นมา ฉันเหลือบไปมองหน้าเขา 

เห็นความกังวลอย่างเห็นได้ชัด เขาห่วงฉันมากจริงๆ มากซะจนลืมคิดถึงอะไรบางอย่าง

"เธอนะโชคดีรู้ไหม ที่บังเขาคอยเป็นห่วง ทั้งๆ ที่บังเขาไม่เคยใส่ใจใครมากขนาดนี้มาก่อนเลยนะ พวกกะที่อยู่เอกเดียวกับบังเขาบอกว่า บังเขาแทบจะไม่คุยกับผู้หญิงคนไหน

มาก่อนเลย เธอนะโชคดีนะ ที่ทำให้เจ้าชายน้ำแข็งหัวใจละลายได้ ใคร ๆ ก็อิจฉากันทั้งนั้น" เพื่อนของฉันแย่งกันพูด หลังจากที่เขาขอตัวไปละหมาด จนฉันหันซ้ายหันขวาตามแทบไม่ทัน นอกจากยิ้มและยิ้ม !

"โชคดี" คำนั้นหลุดจากริมฝีปากของฉัน

ฉันหมดแรง หมดแรงทั้งกายและใจ ไม่ใช่เพราะอะไร แต่มันเกิดจากการที่ฉันรู้สึกผิด รู้สึกผิดต่ออัลลอฮ ที่นับวันฉันเข้าใกล้คำว่าซินามากขึ้นทุกทีทุกที

ฉันหมดแรง เพราะหลายเดือนที่ผ่านมาหลังจากที่ได้รู้จักกับผู้ชายคนนั้นฉันใช้เวลาหลัง มักริบไปกับการคุยโทรศัพท์ ไปกับการแอบอมยิ้มเมื่อรู้ว่าเขาเป็นห่วง กับการหัวเราะกับเรื่องที่เขาเอามาเล่า ความรู้สึกของฉันไม่เหมือนเดิมเพราะฉันไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นแค่คนรู้จักอีกต่อไป ฉันรู้สึกกับเขามากกว่านั้น พี่ชายหรอ เพื่อนสนิท คนรัก หรืออะไร ฉันก็ไม่สามารถตอบได้

ฉันรู้แต่ว่าฉันเป็นห่วง ฉันแคร์ และรู้สึกดีเมื่อรับรู้ว่าเขาก็คิดไม่ต่างจากฉัน แต่เมื่อฉันนั่งทบทวนดูแล้ว ฉันไม่พบคำว่าพี่ชายกับผู้ชายต่างสายเลือดตามหลักการอิสลาม

ฉันไม่พบคำว่า คนรักตามหลักการของอิสลาม นอกจากคนที่แต่งงานกันแล้ว และฉันก็ไม่เคยรับรู้ ว่าคำว่าเพื่อนสนิทระหว่างชายกับหญิงจะมีตัวอย่างมันให้เห็นในสมัยนบี

ฉันกับเขาเป็นอะไรกันเขาถึงได้ห่วงใยฉันขนาดนี้ ฉันไม่สามารถตอบคำถามตัวเองได้ พอ ๆ กับที่ฉันไม่สามารถตอบกับอัลลอฮได้เช่นกัน

ฉันรับรู้แค่เพียงว่า สำหรับชายหญิงที่ไม่ใช่พี่น้องและไม่ได้แต่งงานแล้วการเข้าใกล้เกินขอบเขตนั้นคือซินา

ขอบคุณสำหรับความห่วงใยแต่จะดีกว่านี้หากเราเดินตามแนวทางของอัลลอฮ ไม่มีคำว่าเพื่อนสนิท คนรัก หรือพี่ชายสำหรับเราสองคน เพราะอิสลามไม่อนุมัติ เชื่อว่าบังคงเดินตามแนวทางที่ถูกต้อง มาอัฟด้วยที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นภาระกับบังตลอด และมาอัฟมากๆ เลย ที่เป็นคนดึงให้บังตกต่ำลงจากที่ๆ บังเคยอยู่

แท้จริงแล้วชายที่ดี ย่อมคู่ควรกับหญิงที่ดี คิดว่าบังน่าจะหาคนอื่นที่เหมาะสมมากกว่าผู้หญิงที่อ่อนแอทั้งกายและอีหม่านคนนี้ อัสลามูอาลัยกุม

--------------------------------------------------------

หลังจากจบประโยคนั้น เธอก็วางสายไป จากการคุยกับเธอทำให้ผมได้รู้ว่า เธอรู้สึกผิดมากที่ทำให้ผู้ชายที่ไม่เคยโทรหาผู้หญิงอย่างผม ต้องโทรหาเธอทุกคืน 

เธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเริ่มต้นที่ทำให้ผมทำในสิ่งที่ไม่ดี ที่ตัวเองไม่เคยทำ เธอทำให้ผมละอาย

เมื่อก่อนเธอคุยกับผู้คนไม่เลือก และไม่ปฏิเสธที่จะคุยกับผม

เมื่อก่อนเธอไม่อ่านอัลกรุอานทุกวัน

เมื่อก่อนเธอใส่หิญาบผืนสั้นนิดเดียว

เมื่อก่อนเธอทั้งพูดและหัวเราะเสียงดัง

= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = 

ตั้งแต่รู้จักกันผมโทรหาเธอทุกคืน

ตั้งแต่รู้จักกันผมไม่มีเวลาอ่านอัลกรุอาน

ตั้งแต่รู้จักกันผมทำอะม้าลน้อยลง

ตั้งแต่รู้จักกันผมไม่เคยเบื่อเลยที่จะคุยกับเธอ

แต่ผมมักจะหยิบยื่นหนังสือที่เกียวกับอิสลามให้เธอเสมอ เพราะเธอบอกว่า เธอรู้น้อยเพราะเรียนสามัญมา

แต่หนังสือพวกนั้นทำให้เธอห่างไกลจากผมทุกที ๆ 
เธอเปลี่ยนไป ในขณะที่ผมเหมือนเดิม

= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = 

เธอมักจะไม่รับโทรศัพท์ผมหลังมักริบ เพราะอ้างว่าอ่านอัลกรุอาน

เธอไม่คุยกับผมหลังอีซา เพราะเธอจะไปทำฮาลาเกาะ

เธอไม่คุยกับผมตอนเช้า เพราะบอกว่าอ่านอัซกัร

เธอพูดกับผมน้อยลง เพราะบอกว่าไม่มีอะไร! จะพูด !

ผมเสียเธอไปเพราะหนังสือที่ผมเป็นคนหยิบยื่นให้ การที่คนเราไม่ใช่เนื้อคู่กันนั้นเป็นเพราะความดีของเราไม่มากพอกับความดีของเขา หรือเป็นเพราะความดีของเขาไม่มาก

พอกับความดีของเรา แท้จริงแล้วชายที่ดีย่อมคู่ควรกับหญิงที่ดี
เธอบอกให้ผมเลิกโทรหาเธอ พร้อมกับฝากข้อความนี้มากับเพื่อนของเธอ

= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = 

แล้วพ่อไปติดต่อแม่ยังไงค่ะเด็กสาววัย 18 ถามขึ้น

พ่อก็ให้ปู่กับย่า ไปคุยกับตากับยาย หลังจากที่พ่อเรียนจบโท” 

ผมตอบ พร้อมกับหันไปยิ้มกับเธอที่นั่งเย็บผ้าฟังผมเล่าเรื่องของเราให้ลูกฟัง

แล้วแม่รู้ได้ไงครับว่าความดีของพ่อกับแม่คู่ควรกัน” 

ลูกชายซึ่งกลับมาจากมอ.ปัตตานีถามขึ้น

ก็ดูพฤติกรรมของพ่อเขาซี พ่อเขาก็เหมือนเดิม หลังจากที่คุยกับแม่ครั้งหลังสุด กลับไปอ่านอัลกรุอาน ละหมาดสุนัต และอยู่กับอัลลอฮมากขึ้น จากคำบอกเล่าของน้าชายเราไง

อ๋อ อย่างนี้นี่เอง ชายที่ดี ย่อมคู่ควรกับหญิงที่ดี จริงๆ ด้วยค่ะ และลูกก็ดีใจที่ทั้งสองคนเป็นพ่อกับแม่ของหนู

เด็กสาววัยรุ่นสรุปด้วยสีหน้ายิ้มแย้มตามด้วยเสียงหัวเราะของทุกคนในครอบครัว
ใช่ชายที่ดีย่อมคู่กับหญิงที่ดี